วันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2563

ว่าด้วยเรื่องกัญชา

ทำไมกัญชาจึงดีต่อร่างกาย และช่วยได้แทบทุกโรค
@หมอพืช 

ก่อนไปถึงกัญชา ให้เข้าใจก่อนว่า ร่างกายมีระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ ระบบนี้พึ่งค้นพบประมาณ 20 ปี ซึ่งถือว่าใหม่มาก ใหม่จนวงการยาเคมีและการรักษาโรคของวงการแพทย์ ปรับตัวตามไม่ทัน

ระบบนี้ ได้ชื่อว่า เป็นระบบที่ทำหน้าที่ควบคุมหรือเข้าไปมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของทุกส่วนในร่างกาย จะเรียกมันว่า ประธานบริษัท หรือ CEO ก็ได้ที่สามารถสั่งลูกน้องได้ในทุกแผนก ไม่ใช่แค่ระดับหัวหน้าแผนกแบบยาเคมี ที่สั่งได้เฉพาะลูกน้องในแผนกตัวเองเท่านั้น

ฉะนั้น การที่มันไปควบคุมในทุกๆระบบตั้งแต่ปลายเท้าจรดเส้นผม มันจึงมีอิทธิพลอย่างมากในการดูแลหรือควบคุมอาการของโรคที่จะเกิดขึ้น

ร่างกายมีสารเอ็นโดแคนนาบินอยด์ ที่สร้างขึ้นเองได้ แต่ถ้าร่างกายเสื่อมหรืออายุมากขึ้น เป็นธรรมดาที่กระบวนการสร้างจะเสื่อมด้วย และมีใช้น้อยลง และไม่เพียงพอ

มีไม่เพียงพอ ต้องทำอย่างไร

ก็ต้องหาเพิ่มหรือเติมเข้าไป ซึ่งปัจจุบันเราก็พบว่า สารที่ใกล้เคียงที่เหมาะสมที่สุด อยู่ในต้นกัญชา

ทีนี้พอมองภาพออกหรือยังครับว่าทำไม กัญชาจึงจะดีต่อทุกระบบในร่างกายและจะช่วยรักษาโรคได้

ขยายความเพิ่มอีกนิด ระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ ที่มีสารแคนนาบินอยด์ที่สร้างขึ้นเองไม่พอ จะทำให้ระบบหรืออวัยวะในร่างกายค่อยๆเกิดความเสียหายสุดท้ายโรคก็เกิดขึ้น ซึ่งในเมื่อสร้างไม่พอ ก็ต้องหามาเพิ่มจากข้างนอก ซึ่งก็คือ กัญชา นั่นเอง

ในทางการแพทย์ในต่างประเทศ เรียกโรคทุกโรคที่เมื่อก่อนจับแยกว่า โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคนู้นนี่นั่น แต่ตอนนี้ เริ่มจะเรียกโรคหรือกลุ่มอาการเหล่านี้ว่า Clinical endocannabinoid deficiency หรือเข้าใจง่าย คือ ภาวะพร่องสารเอ็นโดแคนนาบินอยด์

มันสำคัญอย่างไร 

สำคัญตรงที่ เมื่อมีโรคต่างๆเกิดขึ้น อันดับแรกที่จะต้องแก้ไข คือ แก้ตรงที่ระบบนี้ และเติมสารเหล่านี้ให้ร่างกาย ไม่ใช่ไปหลงทางกับยาเคมีแบบที่ผ่านมา

สรุปคือ

1)ในร่างกายมีระบบ endocarnabinoid ชึ่งควบคุมการทำงานของเซลล์ ทุกระบบ โดย

ร่างกายสร้างสาร carnabinoid  หรือสารคล้ายกัญชา ขึ้นมาเองในตัว

เซลล์แต่ละเซลล์ในร่างกายจะมีปุ่มรับ สารendocarnabinoid ที่ผนังเซลล์
ชึ่งปุ่มนี้จะยอมให้สารนี้ผ่านเข้าสู่ภายในเซลล์ได้

สารcarnabinoid จะไปทำให้ระบบการทำงานของเซลล์ดีขึ้น ทุกๆเซลล์ ชึ่งสารนี้จำเป็นมากสำหรับทำให้เซลล์ทำงานได้ดี

เมื่อเราแก่ลง หรือเป็นโรค
ร่างกายก็สร้างสารcarnabinoidนี้น้อยลง

เซลล์ก็จะขาด สารนี้ การทำงานของเซลล์ก็ไม่ดี

เมื่อเราให้กัญชาชึ่งเหมือนสารที่เราขาดไป เซลล์ได้รับสารนี้เพิ่มขึ้น ก็จะกลับมาทำงานดีขึ้น ทุกเซลล์ทุกระบบ

กัญชาจึงสามารถช่วยรักษาโรคได้เกือบทุกโรค

ขอบคุณข้อมูลจาก Google
โดยนายแพทย์พงษ์ศักดิ์ สง่าราศี

วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2563

โกโก้กับช็อคโกแล๊ต

สงสัยมั้ย โกโก้ กับ ช็อกโกแลต มันต่างกันยังไง??

เวลาไปยืนอ่านเมนูในร้านกาแฟ ก็มักจะมีเครื่องดื่ม
ที่เรียกว่า "โกโก้ร้อน" "โกโก้เย็น" "โกโก้ปั่น" แต่บางร้าน ก็เขียนว่า "ช็อกโกแลตร้อน" "ช็อกโกแลตเย็น"
"ช็อกโกแลตปั่น"... 
แล้วตกลงมันต่างกันมั๊ย? อะไรเรียก "โกโก้" อะไรเรียก 
"ช็อกโกแลต" 

ของทั้งสองอย่างนี้เป็นแฝดคนละฝา ทำมาจากของอย่างเดียวกัน แต่แตกต่างกันที่กรรมวิธี จริงๆแล้วทั้งโกโก้และช็อกโกแลตนั้น ทำมาจากเมล็ดของต้นกาเกา (cacao) หรือบ้านเราเรียกเอาง่ายว่าตันโกโก้ นั่นแหละ โดยนำเมล็ดในฝักมาแช่น้ำหมักไว้ จากนั้นนำไปล่อนเปลือก นำไปคั่ว และ บดเป็นผง 

และตรงนี้ คือทางแยก ... ถ้านำผงที่ได้ไปใช้เลย 
เราจะเรียกว่า "ผงช็อกโกแลต" 
แต่ถ้านำไปผ่านกระบวนการสกัดเอาไขมันที่เรียกว่า "โกโก้บัตเตอร์" ออกจนหมด ก็จะกลายเป็น 
"ผงโกโก้" 

นั่นเป็นที่มาว่า โกโก้จะมีรสขมขื่นคอ บาดลิ้น และ
ช็อกโกแลตจะหอม มัน มีรสนุ่มละมุนกว่า เพราะยังมี
ไขมันโกโก้บัตเตอร์ปนอยู่ 

ด้วยเหตุนี้เองโกโก้นั้นจะเป็นเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพกว่าช็อกโกแลต ในฐานะที่มีไขมันน้อยกว่า แม้จะไม่หอมมันเท่า

และนี่คือความแตกต่างของแฝดคนละฝา "โกโก้" และ 
"ช็อกโกแลต" นั่นเอง

ศ.นพ.นิพนธ์ พวงวรินทร์ 
ท่านเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง ของรพ.ศิริราช
ท่านบอกเคล็ดดีๆของ 
    • การรักษาสมองให้แจ่มใส 
    • ความจำยังคงดี แม้วัยจะสูงขึ้น 
    • ลดความเสี่ยงที่จะเป็นอัลไซเมอร์ 

ด้วยการกินโกโก้ร้อน (ไม่ใช่ช็อกโกแลต)
ย้ำโกโก้ 100% แบบไม่ผสมน้ำตาลนะ
จิบตอนเช้าๆแทนกาแฟ 
แต่ถ้าจะให้อร่อย อุ่นนมสดให้ร้อน
แล้วใส่ผงโกโก้คนให้เข้ากัน ลองกินดูซักเดือนนะ 
ไม่เสียหายอะไร
คุณหมอบอกทดลองกินมา 6 เดือนละ จำอะไรๆได้ดีขึ้น

#วิธีชงโกโก้นมสดง่าย ๆ
1. เทนมสดกล่องลงในแก้ว 3/4 กล่อง
2. อุ่นใน microwave 50-60 วินาที นมจะเดือดแต่ยังไม่หกล้นแก้วถ้าใส่ 3/4 ของกล่อง
3. เอานมอุ่นออกมาผสมกับโกโก้ 3-4 ช้อนชา คนให้เข้ากัน
4. เติมนมที่เหลือในกล่องลงผสมให้เข้ากัน
จะได้โกโก้นมสดอุ่น พอดื่มได้พอดี
ใช้นมไวตามิลค์เจ แทนนมสดก็ดี สำหรับมังสวิรัติที่เคร่งครัด

ท่านให้คำแนะนำที่น่าสนใจลองอ่านและพิจารณาดูนะคะ

#สรุปสาระสำคัญมาได้ว่า
1. หากจมูกใครเริ่มไม่ได้กลิ่น แม้ไม่เป็นหวัด 
ให้รีบไปตรวจ เพราะอาจมีผลต่อสมองส่วนความจำในระยะต่อไป พึงทราบว่าอัลไซเมอร์ เริ่มถามหาท่าน สว. แล้ว

2. เซลล์สมอง พัฒนาเต็มที่ถึงเพียงอายุ 2 ขวบ
หลังจากนั้นเซลล์จะเริ่มตายมากกว่าเกิดใหม่ การเลี้ยงดูเด็กทารก  จึงสำคัญมากในช่วง 2 ปีแรก

3. ในอีกไม่กี่ปี อัลไซเมอร์จะเป็นโรค ที่คนแก่เป็นมากที่สุด จะแซงหน้ามะเร็ง อย่าได้ประมาทกับโรคสมองเสื่อม

4. อัลไซเมอร์ นอกจากจะมีผลต่อความจำแล้ว 
ยังมีผลต่อความคิด การตัดสินใจ และอารมณ์
ในปัจจุบัน ผู้ที่อายุมากกว่า 60 มีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์
หรือ มีสภาวะสมองเสื่อมมากขึ้นเรื่อยๆ

5. การอดนอนมีผลต่อความจำ สว.ควรนอนให้เพียงพอ
ถ้านอนน้อย โอกาสอัลไซเมอร์มาอยู่ด้วยมีสูง
ควรนอน 22.00~05.00 หรือ นอนถึง 06.00 น. 
คือ ถ้านอนได้คืนละ 7~8 ชม.ได้จะดีมาก สภาวะสมองเสื่อมจะถอยออกห่าง

6. อาหารของสมองมี 2 ชนิด คือ กลูโคส และออกซิเจน
    - กลูโคสระดับต่ำกว่า 60 อาจตายได้ใน 6 ชม. 
    - ถ้ามากกว่า 120 เป็นเบาหวาน 
    - ผู้สูงอายุปกติน้ำตาลในเลือด จะอยู่ที่ 100-120 
    - ถ้ามีน้ำตาลในเลือด มากกว่า 80 ไม่เกิน 110 ถือว่า โชคดี มีบุญ 
    - สว.ทุกคนควรฝึกหายใจเข้า/ออกยาวๆ ในทุกครั้งที่นึกได้ จะช่วยเติมออกซิเจน และไล่อากาศเก่าที่หมักหมมอยู่ในปอดออก สมองจะสดชื่น แจ่มใส 
อัลไซเมอร์ จักหนีห่าง

7. ในปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีรักษา คนที่เป็นอัลไซเมอร์
มีเพียงวิธีป้องกัน ที่ช่วยลดความเสี่ยง ที่จะเป็นอัลไซเมอร์ 
  7.1 สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ต้องรักษาเบาหวาน ลดความดันโลหิต และเพิ่มปริมาณออกซิเจนให้เพียงพอ
  7.2 คนทั่วไป ต้อง…ฝึกสติ ด้วยวิธีใดก็ได้ สวดมนต์ เดินจงกรม นั่งสมาธิ และมีกิจกรรม/ทำอะไรใหม่ๆ 
เพื่อให้สมองได้ทำงาน 
(แต่อย่าไปคิดเรื่องลงทุน ที่ไม่เคยทำ และไม่ถนัดนะ จะหมดตัวซะก่อน)

8. โกโก้ (ไม่ใช่ช็อกโกแลต) เป็นอาหารที่ดีที่สุดของมนุษย์ 
    • มีสารต้านอนุมูลอิสระ
    • สารลดอัตราการตายของเซลล์ 
    • สารลดการแข็งตัวของหลอดเลือด ฯ 

....มีงานศึกษาวิจัยประโยชน์ของโกโก้หลายผลงานวิจัย พบว่า การดื่มโกโก้ ในปริมาณมากพอ จะทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองส่วนต่างๆ ดีขึ้น (โดยเฉพาะบริเวณ anterior cingulate cortex) ....

คุณหมอแนะนำ ให้ดื่มโกโก้ร้อนทุกวันตอนเช้า 
    - โดยใช้ผงโกโก้ 2 ช้อนโต๊ะ ควรเติมน้ำผึ้ง เพื่อให้ดื่มง่ายขึ้น "Two spoonfuls of cocoa a day keeps Alzeimer away " 
    - โกโก้ รสชาติไม่อร่อย แต่มีคุณค่ามหาศาล
สามารถไล่อัลไซเมอร์ให้หนีไปไกลได้เลย ส่วนผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดไม่สูง ไม่เกิน 100 อาจเติมนม/น้ำตาลช่วยชูรสชาติเพิ่มได้ 
(จากผลวิจัยในต่างประเทศ…ถ้าใช้ผงโกโก้น้อยกว่าครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ…จะไล่อัลไซเมอร์ไม่ค่อยได้ผลมากนัก)

ขอบพระคุณคำแนะนำดีดีด้วยนะคะ

cr : ข้อมูล&ภาพจากอินเตอร์เนต

วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2563

กาแฟกับโรคกระดูกพรุน

สถาบันโรคกระดูกพรุนแห่งสหรัฐอเมริกา ก็ออกมาเตือนให้หลีกเลี่ยงการบริโภคเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในปริมาณที่มากเกินไปเพื่อลดปัจจัยที่จะทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้

คาเฟอีนจะสร้างกลไก 2 อย่างที่มีผลทำให้

  1. ขัดขวางการสร้างมวลกระดูกใหม่
  2. ลดความหนาแน่นของมวลกระดูก

มีการศึกษาจำนวนมากที่แสดงถึงผลของคาเฟอีนที่มีต่อการดูดซึมและการขับออกของแคลเซียม ในกลุ่มอาสาสมัครที่มีสุขภาพดี พบว่าการบริโภคคาเฟอีน (ในรูปของกาแฟ) เกี่ยวข้องกับการทำให้สมดุลของแคลเซียมเสียไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยร่างกายเราจะสูญเสียแคลเซียมน้อยกว่า 5 มิลลิกรัมทุกๆการบริโภคกาแฟหนึ่งแก้ว ผลกระทบของคาเฟอีนเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะ หรือเพิ่มความสูญเสียของแคลเซียมในลำไส้ โดยทำให้การดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายผ่านทางลำไส้มีประสทธิภาพน้อยลง ซึ่งทำให้สูญเสียมวลกระดูก ขัดขวางการสร้างมวลกระดูกใหม่และเป็นการเพิ่มความเสี่ยงภาวะกระดูกแตกหัก (Bone Fractures) อีกด้วย

ในทางตรงกันข้าม ก็มีการศึกษาอีกจำนวนหนึ่งเช่นกัน ที่สรุปผลออกมาว่า การบริโภคคาเฟอีนจากกาแฟไม่ได้มีผลหรือเพิ่มความเสี่ยงของภาวะกระดูกแตกหักแต่อย่างใด (แต่มีการสูญเสียแคลเซียมแน่นอน) การสรุปผลในเรื่องนี้ว่า คาเฟอีนจะทำให้ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนได้ 100% จึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำการทดลองและวิจัยกันต่อไป

ถึงแม้ว่าเราจะยังไม่สามารถสรุปผลได้ว่าการดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีนจะทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้ 100% แต่ทางผู้เขียนเห็นว่า ข้อมูลหรือผลการทดลองบางอย่างจากงานวิจัยที่ได้ศึกษามา มีความน่าสนใจและมีประโยชน์ต่อผู้อ่านในแง่มุมของการนำไปใช้ จึงขอนำเสนอข้อมูลต่อไปนี้เพิ่มเติมครับ

  • ปริมาณการดื่มกาแฟที่ไม่มากเกินไป คือ 1-2 แก้ว (อยู่บนมาตราฐานที่ว่า 1 แก้ว = 150 มิลลิลิตร มีคาเฟอีน 80 มิลลิกรัม)
  • การดื่มกาแฟในปริมาณมาก ร่างกายยิ่งได้รับคาเฟอีนมากและสูญเสียมวลกระดูกมากตามไปด้วย
  • ร่างกายของแต่ละคนตอบสนองต่อคาเฟอีนไม่เหมือนกัน ร่างกายใครมีการย่อยและเผาผลาญคาเฟอีนได้เร็วกว่าจะสูญเสียมวลกระดูกมากกว่าผู้ที่มีการย่อยและเผาผลาญคาเฟอีนได้ช้ากว่า
  • หากท่านบริโภคกาแฟแต่น้อย (0-2 แก้วต่อวัน) มวลกระดูกที่สูญเสียไปจากการบริโภคกาแฟอาจไม่ได้มีนัยสำคัญ จนทำให้ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนได้
  • หากท่านเป็นคนบริโภคกาแฟจำนวนมาก (ตั้งแต่วันละ 4 แก้วขึ้นไป) การบริโภคอาหารเสริมแคลเซียมอาจไม่ได้ช่วยชดเชยหรือป้องกันการสูญเสียมวลกระดูกได้ การบริโภคกาแฟมากเกินไปจะไปขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกาย การบริโภคแคลเซียมชดเชยจึงอาจไม่ได้ผล

แม้ผลการวิจัยเรื่องผลของคาเฟอีนจากกาแฟ จะมีข้อขัดแยังกันอยู่บ้าง แต่ถ้าพิจารณารายงานผลการทดลองจากงานวิจัยทั้งหมด จะพบว่า การบริโภคกาแฟในปริมาณที่มากเกินไปมีแนวโน้มจะทำให้เสียมวลกระดูกและเพิ่มความเสี่ยงของกระดูกแตกหัก ต่างจากการดื่มชาที่ผลการทดลองมีแนวโน้มว่า “ช่วยในการเพิ่มมวลกระดูกและลดความเสี่ยงภาวะกระดูกแตกหักได้” รายละเอียดเพิ่มเติม การดื่มชามีความเสี่ยงทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนหรือไม่ ?

ส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนยังเชื่อว่า การดื่มกาแฟ มีผลทำให้สูญเสียมวลกระดูกอย่างแน่นอน แต่จะสูญเสียกันมากเท่าไหร่ ? และถึงขึ้นต้องเป็นโรคกระดูกพรุนไหม ? ก็ไม่อาจสรุปเป็นมาตราฐานหรือตัวเลขให้ได้แน่ชัด ขึ้นสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล แต่ถ้าเลือกได้คงไม่มีใครอยากสูญเสียมวลกระดูกที่เป็นทรัพยากรอันสำคัญและมีค่าต่อร่างกายในช่วงบั้นปลายชีวิตใช่ไหมครับ ?

สรุป

การบริโภคกาแฟเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างระมัดระวัง เพราะผลการทดลองแสดงให้เห็นแล้วว่า มีผลเสียทำให้สูญเสียมวลกระดูก ถึงแม้ว่าเราจะยังไม่สามารถสรุปผลได้ชัดเจนว่านำไปสู่การเกิดโรคกระดูกพรุนอย่างแน่นอน แต่ถ้าเราทำใจให้เป็นกลางก็จะเห็นว่า “การสูญเสียมวลกระดูกไม่ได้เป็นผลดีกับเราแต่อย่างใด” ดังนั้น การบริโภคกาแฟกันแต่พอดีน่าจะเป็นทางหนึ่งที่ช่วยให้เราห่างไกลจากโรคกระดูกพรุนได้ครับ

วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2563

กัญชง พืชเศรษฐกิจ

บัญชีอยู่แล้ว?หรือ
ขอสนับสนุนกัญชงไทย
โดย
นิติภูมิธณัฐ
มิ่งรุจิราลัย
ผมเห็นด้วยกับนายสุชาติ ไตรแสงรุจิระ ทปษ. รมว.อุตสาหกรรม ที่ผลักดันและส่งเสริมพืชกัญชงในภาคอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถที่จะเข้าไปแข่งขันในตลาดสหรัฐ ยุโรป และเอเชีย
ผมขอเรียนเพิ่มเติมว่ากัญชงให้ประโยชน์ 2 อย่าง อย่างแรกคือให้สารสกัด CBD ที่เป็นประโยชน์ในวงการแพทย์ อย่างที่สองคือเส้นใยกัญชงซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ได้รับความนิยมสูง
ผมขอสนับสนุนให้มีการพัฒนากัญชงแต่ละสายพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์ให้เป็นเส้นใยกัญชงไทย ด้วยความเชื่อที่ว่ากัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอนาคต เพราะใช้ทั้งเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอและใช้ในการแพทย์
ความสนใจในกัญชงทำให้ผมได้รับการติดต่อจากนายลีโอ หยู ประธานบริษัท ยูนนาน เฮมพ์มอน ฟาร์มาซูติคอลส์ จำกัด ให้เดินทางไปดูโรงงานสกัดสาร CBD จากกัญชงที่กำลังก่อสร้างในนิคมอุตสาหกรรมคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีนถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเดือนพฤษภาคม 2562 และครั้งที่สองเดือนสิงหาคม 2562
ในเดือนพฤษภาคม 2562 นอกจากไปดูสถานที่ก่อสร้างโรงงานแล้ว นายหยูยังพาผมนั่งทั้งรถไฟความเร็วสูงและรถยนต์ไปตระเวนดูการปลูกกัญชงใน 12 ตำบลของอำเภอฝูเจ๋อเฮย มณฑลยูนนาน
พอถึงเดือนสิงหาคม 2562 ผมเดินทางไปดูแปลงกัญชงที่ตำบลจานอี้ อำเภอฉวีจิ้ง มณฑลยูนนาน และได้ไปใช้ชีวิตช่วงหนึ่งกับพี่น้องเกษตรกรจีนผู้ปลูกกัญชงด้วย
มหาวิทยาลัยชิงหัวมีงบวิจัยและพัฒนาในเรื่องการสกัดสาร CBD และสารอื่นจากพืชปีละ 1 หมื่นล้านหยวนหรือประมาณ 5 หมื่นล้านบาท
มหาวิทยาลัยชิงหัวถือหุ้นในบริษัทยูนนานฯ ร้อยละ 61 ซึ่งบริษัทนี้เป็นเจ้าของโรงงานสกัดสารจากกัญชงที่คาดว่าจะสามารถผลิตสาร CBD ได้ตั้งแต่ปีละหลายสิบตันไปจนถึงมากที่สุด 200 ตันต่อปี
โรงงานมีทั้งหมด 2 เฟส เฟสแรกใช้เงินก่อสร้างเบื้องต้น 2 พันล้านหยวนหรือเกือบ 1 หมื่นล้านบาท เฟสสองจะขยายพื้นที่อีก 2 แปลง รวมแล้วเป็นการลงทุนทั้งหมดเกือบ 3 หมื่นล้านบาท
รัฐบาลจีนไม่อนุญาตให้ปลูก ‘กัญชา’ และสาร THC เป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่อนุญาตให้ปลูก ‘กัญชง’ ได้ในบางมณฑล
ทราบว่าขณะนี้มี 2 มณฑลที่ได้รับอนุญาตแล้วคือมณฑลเฮย์หลงเจียง และมณฑลยูนนาน สำหรับมณฑลจี๋หลินนั้น คาดว่าจะได้รับการอนุญาตต่อไปในอนาคตอันใกล้
เป้าหมายการปลูกกัญชงของมณฑลยูนนานคือการผลิตสาร CBD ส่วนเป้าหมายของมณฑลเฮย์หลงเจียงคือการปลูกเพื่อนำมาใช้ทำเส้นใย อาหาร และเมล็ดพันธุ์
คนจีนใช้ผ้าที่ทอจากเส้นใยกัญชงมานานแล้ว
ความแข็งแรงของเส้นใยและสามารถดูดซับความชื้นได้ดีกว่าผ้าฝ้ายและไนล่อน ให้ความอบอุ่นมากกว่าผ้าลินิน
ผ้าที่ทำจากกัญชงให้ความรู้สึกเย็นสบายในหน้าร้อน และความอบอุ่นในหน้าหนาว ยิ่งซักยิ่งนุ่ม ไม่มีกลิ่นอับ ไม่ชื้น และไม่ขึ้นรา
เสื้อผ้าที่ทอจากเส้นใยพืชประเภทอื่นป้องกันแสงยูวีได้ร้อยละ 30-50 แต่เสื้อผ้าที่ทอจากเส้นใยกัญชงป้องกันแสงยูวีได้เกือบร้อยละ 100 เป็นฉนวนกันไฟฟ้า ป้องกันไฟดูด
แม้จะอยู่ในอุณหภูมิที่สูงถึง 370 องศาเซลเซียสก็ไม่เปลี่ยนสี
แบคทีเรียไม่สามารถจะเติบโตได้ในเส้นใยกัญชง เมื่อใช้ผ้าจากเส้นใยกัญชงห่อเนื้อสด เนื้อจะอยู่ได้นานเป็น 2 เท่าของเนื้อที่ห่อด้วยผ้าที่ทอด้วยเส้นใยพืชประเภทอื่น
รองเท้าที่ทำจากเส้นใยกัญชงสามารถป้องกันโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราได้
ถ้าจะนำมาทำเส้นใย กัญชงยังไม่ทันออกดอกต้องรีบตัด ถ้าจะนำมาทำอาหาร ก็ต้องปล่อยให้ออกดอกและมีเมล็ด นอกจากนำเมล็ดมาทำอาหารแล้ว ยังเอาไปทำเมล็ดพันธุ์ด้วย
เรามีความจำเป็นต้องเสาะแสวงหาพืชเศรษฐกิจประเภทอื่นๆ มาให้เกษตรกรไทยของเราปลูก เพื่อทำให้เกษตรกรมีทางเลือกและมีรายได้เสริมเพิ่มขึ้น
เรื่องกัญชงที่จะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ให้เกษตรกรไทยนี่ ผมขอสนับสนุนสุดตัวครับ.

วันเสาร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2563

คำถามเกี่ยวกับภาษีที่ดินใหม่

ภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้างใหม่ 31 คำถามไขข้อข้องใจ จ่ายแบบไหน เท่าไร?

สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดสัมมนาหัวข้อ “ไขประเด็น พ.ร.บ. ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างกับกฎหมายลูกร่วม 19 ฉบับที่ต้องรู้” เมื่อ 6 พฤศจิกายน 2562

กล่าวได้ว่าเป็นเวทีสัมมนาที่คนฟังแน่นห้อง เป็นท้้งเรื่องใกล้ตัวและใกล้กระเป๋าเงิน เพราะมีเวลาอีกเพียง 1 เดือนเศษรัฐบาลเตรียมจัดเก็บจริงในวันที่ 1 มกราคม 2563 (ล่าสุด กระทรวงมหาดไทยแจ้งเลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ไปเป็นเดือนสิงหาคม 2563)

โดยมีตัวแทนจาก 3 กรมหลัก ประกอบด้วย “ชุมพล สุวรรณกิจบริหาร” ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายภาษี สำนักนโยบายภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง “วิลาวัลย์ วีระกุล” รองอธิบดีกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง

และผู้บริหารที่เป็นตัวแทนจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในฐานะกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7,776 แห่งทั่วประเทศ ทำหน้าที่ไขความกระจ่างภาษีทุกซอกทุกมุม

ที่ดินเกษตร-อยู่อาศัย-อื่น ๆ

ผู้บริหารรัฐให้คาถา 1 เรื่อง คือ ทรัพย์สินถ้าไม่ใช่ “ทำเกษตรกรรม” และถ้าไม่ใช่ “ที่อยู่อาศัย” กฎหมายตีความเป็นประเภท “อื่น ๆ” หรือพาณิชยกรรมการค้าและที่ดินเปล่าทันที

ข้อแตกต่างเพราะบทเฉพาะกาลในกฎหมายใหม่ กำหนดแนวปฏิบัติชัดเจน 2 ปีแรก (2563-2564) ฐานภาษีต่ำไปหาสูง ได้แก่ ที่ดินเกษตรกรรม เริ่มต้นเก็บล้านละ 100-1,000 บาท

ที่อยู่อาศัย เริ่มจัดเก็บล้านละ 200-3,000 บาท, อื่น ๆ (ทำการค้า) เริ่มจัดเก็บล้านละ 3,000-7,000 บาท

และที่ดินเปล่า เริ่มจัดเก็บเท่าประเภททำการค้า คือเริ่มต้นล้านละ 3,000 บาท

แต่ถ้าหากทุก ๆ 3 ปีเจ้าของที่ดินไม่ทำประโยชน์อะไร ภาษีจะถูกบวกเพิ่มล้านละ 3,000 บาท ทบไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะชนเพดานไม่เกินล้านละ 30,000 บาท หรือเพดานภาษี 3%

ราคาประเมินเลื่อนทางเทคนิค

1. “ราคาประเมินที่ดิน” เปิดวงเสวนาด้วยคำถาม ทำไมการประกาศราคาประเมินที่ดินรอบใหม่จึงต้องเลื่อนออกไป

ข้อเท็จจริง คือ ราคาประเมินที่ดินปัจจุบันเป็นรอบปี 2559-31 ธันวาคม 2563 ประกาศใช้รอบละ 4 ปี

ประเด็นคือ ช่วงรอยต่อปีเก่า-ปีใหม่มีกฎหมายอีกฉบับ “พ.ร.บ.ประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ” มีผลบังคับใช้ 22 พฤศจิกายน 2562 ส่งผลให้การทำงานภายใต้ประมวลกฎหมายที่ดินถูกนำมาบังคับภายใต้กฎหมายใหม่

หมายความว่า ในทางปฏิบัติการประกาศใช้ราคาประเมินที่ดินต้องประกาศล่วงหน้า 1 เดือน เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบการประเมินราคาที่ดินก่อนบังคับใช้ ถ้าหากต้องประกาศใช้บังคับบัญชีใหม่ภายใน 1 ธันวาคม 2562 เท่ากับมีเวลาเตรียมตัว 8 วันเท่านั้น

ระยะเวลาน้อยนิดแต่ต้องทำงานภายใต้กฎหมายใหม่ อำนาจหน้าที่ก็ถูกปรับไปขึ้นกับกฎหมายใหม่โดยอัตโนมัติ ผลของการ “ทำไม่ทัน” จึงต้องเลื่อนการบังคับใช้ราคาประเมินรอบใหม่ออกไปอีก 1 ปี

จากเดิมราคาประเมินที่ดินรอบใหม่ต้องบังคับใช้ 1 มกราคม 2563 เลื่อนเป็น 1 มกราคม 2564 แทน

ผลประโยชน์ตกกับผู้ซื้อทรัพย์สิน เพราะยังใช้ราคาประเมินเก่าซึ่งฐานต่ำกว่า ทำให้การจ่ายภาษีก็น้อยกว่า

ประเมินทุนทรัพย์ “ราคาเดียว”

2. “ราคาประเมินทุนทรัพย์” ใช้แบบปี 2535 ซึ่งของเดิมมี 59 แบบ กฎหมายใหม่ยุบเหลือ 36 แบบเพื่อให้ง่ายต่อการนำไปใช้ มีผลให้บ้านเดี่ยว-บ้านแถว-ตึกแถว “มีราคาเดียว”

ในทางปฏิบัติที่อยู่อาศัยไม่ได้มีเพียงมิติเดียว หากแต่ยังมีบ้านครึ่งตึกครึ่งไม้, บ้านไม้ทั้งหลัง, บ้านชั้นเดียว สองชั้น สามชั้น ฯลฯ จะชี้วัดยังไงว่าใครต้องจ่ายถูกแพงกว่ากัน

แนวคำตอบ รัฐจะยึดหลัก “ราคาเดียว” โดยเอาราคาต่ำสุดของประเภทบ้านเดี่ยวมาใช้ หรือใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ต่ำสุด จึงไม่ต้องกังวลราคาจะสูง ยิ่งจะใช้เพื่อการจัดเก็บภาษีต้องคำนึง 1.ง่าย 2.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ต้องใช้ดุลพินิจ

รวมทั้งราคาประเมินทุนทรัพย์ใหม่ 36 แบบ สามารถตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดได้จากเว็บไซต์กรมธนารักษ์โดยตรง

3. “โกดังโรงงานกับส่วนควบ” ทรัพย์สินประเภทอุตสาหกรรม โกดัง นับส่วนควบด้วยหรือนับเฉพาะสิ่งปลูกสร้าง

แนวคำตอบให้นับเฉพาะสิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักรต่าง ๆ เป็นส่วนควบ ไม่ต้องนับหรือไม่ต้องนำมาคำนวณภาษีทรัพย์สิน

เช่น โรงงาน 1,000 ตารางเมตร คูณด้วยราคาโรงงาน 8,000 บาท แล้วหักค่าเสื่อมราคาตามจริง

4. “ที่จอดรถ” เหมือนจะไม่มีปัญหาแต่แท้จริงคือปัญหาใหญ่ เพราะต่างจังหวัดที่ดินมีเหลือเฟือ การเทลานคอนกรีตจะจ่ายภาษีแบบไหน

เพราะถ้าทำที่จอดรถได้รับยกเว้นภาษีมูลค่า 50 ล้านบาทแรก แต่ถ้าทำที่จอดรถจะถูกตีความเป็น “อื่น ๆ (ทำการค้า)” เก็บภาษีเริ่มต้นล้านละ 3,000 บาท

แนวคำตอบ เจ้าหน้าที่รัฐต้องดูประเภทที่จอดรถ ซึ่งการสำรวจขององค์กรท้องถิ่นจะแยกประเภท เช่น พื้นที่โรงงาน ที่จอดรถ ซึ่งค่าภาษีแตกต่างกัน

จัดสรรเต้นกฎใหม่โอนคอนโดฯ

5. “โอนคอนโดฯโดนหางเลขกฎหมายใหม่” ประเด็นนี้สืบเนื่องจาก พ.ร.บ.การประเมินทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พ.ศ. 2562 ที่มีผลบังคับใช้ 22 พฤศจิกายน 2562

มีประเด็นอาคารชุด จากเดิมสามารถกำหนดราคาก่อนจดทะเบียน แต่กฎหมายใหม่ต้องจดทะเบียนก่อนแล้วค่อยกำหนดราคา ทำให้คอนโดมิเนียมแม้สร้างเสร็จแล้วแต่การโอนอาจต้องล่าช้าออกไป

ข้อกังวลดังกล่าว ทางกรมธนารักษ์ไขคำตอบว่า แม้ต้องปฏิบัติภายใต้กฎหมายใหม่ แต่ขั้นตอนปฏิบัติตั้งธงไว้แล้วว่าต้องจัดประชุมแค่รอบเดียวแล้วตัดสินราคาได้เลย

ข้อกังวลที่ส่งขึ้นมาไม่ใช่แค่ผู้ซื้อ-ผู้ขาย แต่ยังมี “สินเชื่อ” เข้ามาเกี่ยวข้องเพราะมีอายุการอนุมัติ 3 เดือน ถ้าโอนห้องชุดล่าช้ากว่าเดิมกระบวนการขอสินเชื่ออาจต้องทำใหม่

6. “การคัดค้านของประชาชน” สืบเนื่องจากราคาประเมินที่ดินเดิม กรมธนารักษ์สำรวจและประกาศใช้ได้เลย แต่ภายใต้ property tax เปิดช่องให้มีการอุทธรณ์หรือคัดค้านราคาประเมินใหม่ได้

โดยคัดค้านกระบวนการประเมินไม่ถูกต้องได้ กรอบเวลาทำภายใน 90 วัน ขณะที่การคัดค้านราคาสามารถคัดค้านได้ทันที

ประเด็นการคัดค้านทางมหาดไทยดูเหมือนไม่กังวล มองว่ามีแต่ข้อคัดค้านมโนสาเร่ อาทิ ตำแหน่งที่ดินผิด (เพราะราคาประเมินต่ำอยู่แล้ว)

ประเมินภาษีที่ดินผิด ใครรับผิดชอบ

7. “ประเมินราคาผิด จ่ายภาษีผิด ใครผิด” ข้อกังวลมาจากความเป็นไปได้ที่เจ้าหน้าที่ประเมินพลาด เจ้าของไม่รู้ไม่ตั้งใจ

หลักกฎหมายระบุชัดเจน ตั้งแต่การสำรวจจนถึงประกาศราคา สามารถทบทวนได้ภายใน 3 ปี

8. “ระหว่างปีมีการเปลี่ยนแปลงทรัพย์สิน” ข้อกังวลเพราะกลัวเสียภาษีผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจ

ประเด็นนี้ แนวคำตอบคือ การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นการเก็บภาษีล่วงหน้า ปีละ 1 ครั้ง เรียกว่าปีภาษี

เพราะฉะนั้น ในระหว่างปีหากมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ทรัพย์สิน รัฐเฉย ๆ ไม่ต้องทำอะไร รอจนกว่าเจ้าของแจ้งประเภทเข้ามา และมีการประเมินใหม่

9. “เขียนบิลระบบแมนวล” ปีแรก (2563) ระบบออนไลน์ทำงานบนคอมพิวเตอร์ยังไม่ 100% ดังนั้น ยังมีตกค้างบางส่วนที่ต้องเขียนบิลด้วยมือแบบระบบเก่า

แนวคำตอบ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมีระบบบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ แต่ของใหม่ต้องทดลองใช้ก่อน “…ปีแรกลำบากนิดนึง ถ้า อปท.ไหนไม่มีก็ใช้ระบบแมนวล กฎหมายลูกก็ยังออกไม่หมด เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้หรอกครับ”

10. “ถ้าระบบไม่พร้อม รัฐจะใช้วิธีเรียกเก็บภาษีไปก่อน” ประเด็นนี้แม้ภาครัฐไม่ได้ปฏิเสธ แต่ก็แก้ไขแนวทางมาให้แล้วว่า ถ้าท้องถิ่นใดไม่มีความพร้อม

แต่ทรัพย์สินมีอยู่จริง ก็ยังมีฐานภาษีเดิมรองรับอยู่ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือ เก็บภาษีตามฐานภาษีเดิมไปก่อน

จ่ายแพงกว่าเดิมหรือเปล่า ?

11. “จ่ายภาษีแพงขึ้นจากเดิมหรือไม่” คำถามมาจากเดิมเคยจ่ายภาษีโรงเรือน 12.5% ของค่าเช่า แต่ภาษีใหม่จ่ายตามมูลค่าทรัพย์

หลักปฏิบัติ กรมธนารักษ์ยกตัวอย่าง ภาษีเก่าจ่ายปีละ 20,000 บาท กฎหมายใหม่เมื่อคำนวณแล้วถ้าจ่ายน้อยลงก็ยกเป็นประโยชน์กับเจ้าของทรัพย์

แต่ถ้าค่าภาษีมากกว่าเดิม เช่น 30,000 บาท ส่วนต่างที่เคยจ่าย คือ 10,000 บาท มีมาตรการบรรเทาภาษี 3 ปี โดยปีแรกจ่าย 25% ปีที่สองจ่าย 50% ปีที่สามจ่าย 75%

12. “สามีภรรยากับสิทธิยกเว้นภาษีบ้านหลังหลัก” สืบเนื่องจากที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 หลัง รัฐให้สิทธินำบ้านแพงที่สุดยื่นขอรับยกเว้นภาษีมูลค่า 50 ล้านแรก และเรียกว่า “บ้านหลังหลัก”

คำถามคือสามีภรรยา ถ้าไม่ทำอะไรเลยจะได้รับยกเว้นเพียง 1 หลัง แต่อยากใช้สิทธิยกเว้นบ้านหลังหลัก 2 หลัง

ประเด็นนี้เจ้าหน้าที่รัฐขอใช้สิทธิไม่ตอบคำถาม เพราะเกรงว่าจะถูกนำไปใช้อ้างอิง

ภาษีที่ดินปลูกป่า เกษตรหรือการค้า

13. “ที่ดินปลูกป่า ตีความทำการค้าหรือเกษตรกรรม” หลากคำถามที่น่าสนใจ กรณีที่ดินนำไปขึ้นทะเบียนกับกรมป่าไม้เพื่อปลูกป่า ได้รับยกเว้นหรือไม่

แนวคำตอบกรมธนารักษ์ คือ property tax ไม่มีเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีสำหรับการปลูกป่า

แต่ถ้าปลูกป่าแสดงว่าทำเกษตรกรรม ตีความเข้าประเภทที่ดินเกษตรกรรม

14. “ที่ดินเลี่ยงจัดสรร สร้างเสร็จไม่พร้อมกัน เสียภาษีการค้าหรือที่ดินเปล่า”

คำถามอันตรายนี้มีประเด็นที่ดินที่ยื่นขออนุญาตก่อสร้าง 10 หลัง กรณีสมมุติเริ่มสร้างกลางปี 2563 สร้างเสร็จเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และไปขอบ้านเลขที่ จะเสียภาษีที่ดินยังไง

คำตอบชัดเจนมากว่าไม่เกี่ยวกับหน่วยงานรัฐ ในขณะที่ผู้บริหารสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร “อธิป พีชานนท์” ตอบคำถามได้ทันทีว่าไม่แนะนำให้ทำ เพราะไม่สามารถขอสิทธิประโยชน์จากรัฐได้เนื่องจากไม่ได้ขอใบอนุญาตจัดสรร

ประเด็นนี้ มาจากการพัฒนาโครงการบ้าน-คอนโดมิเนียม มีการใช้ที่ดินเปล่าจำนวนมาก ในภาวะเศรษฐกิจไม่ดีมีโอกาสขายโครงการไม่หมด กลัวว่าจะมีภาระจ่ายภาษีทรัพย์สินเยอะ

ต่อมา รัฐได้ออกมาตรการผ่อนผันโดยให้จ่ายภาษีอัตราผ่อนปรน 90% ภายใน 3 ปีแรกนับตั้งแต่ได้รับใบอนุญาตจัดสรร

    กล่าวคือ ถ้าคำนวณภาษี 1 แสนบาท ภายในสามปีแรก ได้รับผ่อนผันไม่ต้องจ่าย 900% หรือ 9 หมื่นบาท มีภาระภาษีจ่ายจริง 1 หมื่นบาท

15. “ให้เกษตรกรเช่าทำเกษตรกรรม ได้รับยกเว้นภาษี 50 ล้านแรกหรือไม่”

แนวคำตอบแบบเคลียร์คัตชัดเจน คือ property tax ยกเว้นภาษีที่ดินเกษตรกรรมสำหรับเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่เป็น “บุคคลธรรมดา” มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทไม่ต้องเสียภาษี

แต่ถ้านิติบุคคลเป็นเจ้าของทรัพย์สิน รัฐเก็บภาษีตั้งแต่บาทแรก (ไม่มีอัตรายกเว้นภาษี)

สรุปหลักการ คือ ดูจากสภาพการใช้งานจริงว่าทำเกษตรหรือเปล่า ไม่ได้ดูว่าใครเช่า

นิยามที่ดิน “เกษตรกรรม”

16. “นิยามที่ดินเกษตรกรรม” เป็นอีกเรื่องที่ผู้คนให้ความสนใจมาก

แนวคำตอบ ที่ดินมีมากน้อยแค่ไหนแต่ดูจากหน้างาน ถ้าทำเกษตรกรรมเท่าไหร่ก็คำนวณภาษีตามประเภทไปเท่านั้น

ประเด็นเพราะที่ดินเกษตรกรรมมีภาษีถูกที่สุด เจ้าของทรัพย์สินจึงมีความสนใจอยากจ่ายภาษีในฐานะทำเกษตรกรรม

สุดท้าย จึงต้องมีการทำนิยามหรือคำจำกัดความ “ที่ดินเกษตรกรรม” ต้องปลูกพืชกี่ต้น พันธุ์อะไรบ้าง ฯลฯ ในที่สุดเรื่องนี้จะต้องถูกกำหนดไว้ในแนบท้ายของกฎหมายใหม่

ที่สำคัญ ไม่ต้องกลัวปลูกไม่ทันก่อนวันที่ 1 มกราคม 2563 เพราะขอให้มี “ต้นกล้า” ก็นับเป็นที่ดินเกษตรกรรมได้ เพียงแต่ต้องมีให้เต็มพื้นที่เท่านั้นเอง

17. “เลี่ยงประเภทที่ดิน คุ้มจริงหรือไม่” คำถามข้อนี้มาจากผู้ถือครองที่ดินเยอะในต่างจังหวัดเป็นหลัก ไม่อยากเสียภาษีที่ดินเปล่าก็เลยขวนขวายทำเกษตรบ้าง หรือเอามาให้เช่าบ้าง

กรมธนารักษ์แชร์ข้อคิดเห็นเป็นการส่วนตัวว่า มีตัวอย่างเจ้าของที่ดิน 70 ไร่ในต่างจังหวัด เป็นที่ดินเปล่าเห็นฐานภาษีแพงก็เลยดิ้นรนจะลงทุนเพิ่มเพื่อใช้สิทธิจ่ายภาษีเกษตรกรรม

ผลลัพธ์ที่คำนวณออกมา มูลค่าทุนทรัพย์หรือมูลค่าที่ดินไม่ได้สูงมากมาย แม้ต้องจ่ายภาษีล้านละ 3,000 บาทแต่จ่ายจริงไม่กี่ตังค์

เปรียบเทียบกับอยากแปลงร่างเป็นที่ดินเกษตรกรรม มีต้นทุนที่มองไม่เห็น ต้องคำนวณดูถ้าได้ไม่คุ้มเสียก็ไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงที่ดินแต่อย่างใด

เพราะอย่าลืมว่า property tax คำนวณภาษีจากราคาประเมิน ซึ่งไม่ได้สะท้อนราคาตลาดอย่างเต็มที่ แปลว่าถูกกว่าราคาตลาดเยอะ

การดิ้นรนเพื่อหวังจ่ายภาษีถูกที่สุด อาจเป็นเรื่องไม่จำเป็นเลยก็ได้

18. “ที่ดินเปล่าให้คนเช่าทำนา มีความเสี่ยง ?” ถ้าตัดประเด็นเรื่องความคุ้มค่าเพื่อให้ที่ดินเปล่าสามารถจ่ายภาษีถูกลงทางมหาดไทยมีข้อชี้แนะว่า เวลาให้ชาวนาเช่าที่ดินทำนา อย่าลืมชั่งน้ำหนักความเสี่ยงตอนไล่ที่ เพราะมีกฎหมายเกษตรกรเช่าทำนา ไม่สามารถขับไล่ผู้เช่าได้ทันที แต่ต้องรอ “รอบเก็บเกี่ยวผลผลิต” ให้แล้วเสร็จเสียก่อน

ที่ดินภาระจำยอม ทำใจลำบาก

19. “ที่ดินภาระจำยอม” มีข้อสังเกตขึ้นมาว่า ไม่ได้มีเงื่อนไขหรือข้อยกเว้นภาษีให้

กรมธนารักษ์ชี้แจงว่า กรณีที่ดินภาระจำยอมและใช้เป็นทางเข้า-ออก รัฐไม่เก็บภาษีอยู่แล้ว เป็นสภาพของการใช้ที่ดิน

“ที่ผ่านมา กรมธนารักษ์เป็นผู้ประเมินราคาที่ดิน แต่เอกสารที่กรมที่ดินส่งให้ไม่มีรายละเอียดว่าแปลงใดจดภาระจำยอม ซึ่งจะเซ็นสลักหลังโฉนด”

ดังนั้น วิธีการกรมธนารักษ์จะประเมินจากสภาพข้อเท็จจริง ไม่ได้ประเมินจากลายเซ็นหลังโฉนด และส่วนใหญ่ที่ดินภาระจำยอมสภาพการใช้มักเข้าข่ายได้รับยกเว้นอยู่แล้ว

รวมทั้งกรณีที่ดินภาระจำยอมใช้เป็นทางเข้า-ออกซอย ราคาประเมินกำหนดเหลือ 50% เท่านั้น

20. “ถนนส่วนบุคคล ได้รับลดหย่อนภาษีหรือไม่” เนื่องจากถนนส่วนบุคคลส่วนใหญ่ไม่มีป้ายเขียนระบุชัดเจน

แนวคำตอบ กฎหมายใหม่เปิดช่องให้มีการอุทธรณ์ภาษีได้ อุทธรณ์ราคาประเมินได้ ดังนั้น ถ้ามีที่ดินภาระจำยอมอยู่ในแปลงที่ดิน

แต่ปรากฏว่าถูกประเมินภาษีเต็มแปลง ก็สามารถอุทธรณ์และให้สำรวจ พิจารณาราคาใหม่ได้ เพื่อให้เสียภาษีได้ถูกต้องตามสภาพทรัพย์สิน

โดยสรุป ที่ดินภาระจำยอมไม่ได้รับการยกเว้น แต่ได้รับการลดหย่อนภาษี

21. “อปท.ทั่วประเทศขอเอกสารจากผู้ประกอบการ” ดูเหมือนเป็นความตกใจเล็ก ๆ เพราะองค์กรท้องถิ่นมีการส่งหนังสือเรียกขอเอกสารต่าง ๆ

ในขณะที่ผู้ประกอบการมองว่าข้อมูลกรรมสิทธิ์ทุกอย่างหน่วยงานรัฐก็มีอยู่แล้ว ทำไมไม่บูรณาการส่งข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกัน

แนวคำตอบจากมหาดไทย กฎหมายใหม่บังคับให้องค์กรท้องถิ่นสำรวจทุกแปลงแบบปูพรม แต่ทำงานไม่ทันแน่นอน

ทางลัด คือ ทำหนังสือขอข้อมูลเอกสารจากเจ้าของทรัพย์สิน ถ้าส่งให้ก็สามารถออกใบประกาศโดยตรง เช่น บริษัทเดียวแต่มี 20 ตึกเจ้าหน้าที่ทำงานไม่ทันจริง ๆ

“การขอเอกสารต่าง ๆ เป็นการสำรวจอีกวิธีหนึ่ง สำหรับเอกชนลำบากปีแรกปีเดียว ปีต่อไปไม่ขอแล้ว”

ที่ดินเปลี่ยนมือตลอดเวลา

22. “ที่ดินเปลี่ยนมือตลอดเวลา” ถือเป็นคลาสสิกเคสน่าจะกลัวการเรียกเก็บภาษีซ้ำซ้อนหรือผิดพลาด

แนวคำตอบ หลักปฏิบัติชัดเจน ท้องถิ่นสำรวจและประกาศราคาประเมิน จากนั้นเรียกเก็บภาษี เจ้าของสามารถโต้แย้งได้ตลอดเวลา

การเปลี่ยนมือจะถี่มากน้อยแค่ไหน จึงไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติ

23. “ให้เช่าที่ดินแล้วผลักภาระให้ผู้เช่าได้หรือไม่” คำถามนี้มีแนวคำตอบชัดเจนว่า ดูแค่ผู้ถือกรรมสิทธิ์คือใคร ผู้นั้นเป็นผู้เสียภาษี

แม้แต่การจ่ายภาษีแทนก็ออกใบเสร็จชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่ดี

24. “ที่ดินแปลงใหญ่แต่ปลูกบ้านหลังเล็ก” คำถามคือตีความเป็นที่อยู่อาศัยเต็มแปลงได้หรือไม่

แนวคำตอบ แม้ข้อเท็จจริงบ้านในต่างจังหวัดอาจสร้างบนที่ดิน 20 ไร่ แต่กฎหมายดูตามสภาพการใช้งานจริง

ถ้าบ้านหลังเล็กแต่สนามหญ้าแต่งเล็มสวยงาม ปลูกต้นไม้และดูแลอย่างดี ตีความที่อยู่อาศัย เริ่มต้นล้านละ 20 บาท

แต่ถ้าสนามหญ้ารกร้าง หญ้าสูงท่วมหัว ตีความเป็นที่ดินเปล่า เสียภาษีเริ่มต้นล้านละ 3,000 บาท

ที่ดินมิกซ์ยูส จ่ายภาษียังไง

25. “ที่ดินทำมิกซ์ยูส” แนวคำตอบชัดเจน ที่ดิน 1 แปลงมีการทำประโยชน์หลายรูปแบบ

เพราะฉะนั้น กฎหมายจะคำนวณตามประเภทการใช้ประโยชน์ เช่น ที่ดิน 1 ไร่ ปลูกบ้านอยู่ ทำแปลงผักไฮโดรฯ และเปิดร้านกาแฟ

การประเมินภาษีจะมี 3 ประเภท คือ ทำเกษตรกรรม-ที่อยู่อาศัย-การค้า แยกจ่ายภาษี 3 ประเภทบนที่ดินแปลงเดียวกัน

26. “ที่ดินกงสี ชื่อ 12 เจ้าของ” จ่ายภาษียังไง และถ้ามีคนเบี้ยวจะทำยังไง

กระทรวงการคลังให้แนวคำตอบว่า property tax ดูที่ทรัพย์เป็นหลัก ไม่ได้ดูว่ามีเจ้าของกี่คน ที่ดินกงสีจึงเป็นเรื่องภายในครอบครัว

การเก็บภาษีก็เก็บจากการใช้ประโยชน์ทรัพย์ ถ้าทำเป็นที่อยู่อาศัยก็เก็บฐานภาษีที่อยู่อาศัย แต่กรณีมีชื่อ 12 คนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วม

บิลเรียกเก็บภาษีจะยึดตาม “ชื่อแรก” ที่ปรากฏ ที่เหลือใครจะเป็นชื่อแรกทางครอบครัวต้องตกลงกันเอง

27. “อัตราภาษีเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่” เรื่องนี้เป็นคำถามทางเทคนิค

แนวคำตอบ คือ กฎหมายใหม่กำหนดราคาแนะนำให้เก็บภาษีในช่วง 2 ปีแรก (2563-2564)

หมายความว่า ปี 2565 เป็นต้นไป อาจมีการเปลี่ยนแปลงอัตราได้ เพราะเปิดช่องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขยับ-ปรับเปลี่ยนอัตราได้

จุดเน้นอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงราคาภาษี ต้องไม่เกินเพดานที่กำหนด ได้แก่ ที่ดินเกษตรกรรม เพดานภาษีไม่เกินล้านละ 1,500 บาท

ที่อยู่อาศัยไม่เกินล้านละ 5,000 บาท, ที่ดินอื่น ๆ (การค้า) ไม่เกินล้านละ 12,000 บาท และที่ดินเปล่าไม่เกินล้านละ 30,000 บาท

ภาษีที่ดิน ส.ป.ก.-ที่ดินตาบอด

28. “ที่ดิน ส.ป.ก.เสียภาษีด้วยหรือไม่” แนวคำตอบ คือ ต้องจ่ายภาษีไม่มียกเว้น โดยผู้จ่าย คือ “ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐ”

เพราะฉะนั้น การเช่าที่ดินรัฐไม่ว่าทำการค้า เกษตรกรรม หรือทำที่อยู่อาศัย มีหน้าที่ต้องเสียภาษีทุกแปลง

29. “ทรัพย์มรดก” แนวคำตอบมีเงื่อนไขเดียว ถ้ารับมรดกเป็นบ้านหลังหลัก อาจได้รับลดหย่อนกึ่งหนึ่ง แต่ถ้ารับมรดกที่ดินเปล่า จ่ายตามสูตรภาษีเป๊ะ

เพียงแต่ถ้ามูลค่าสูง กฎหมายเปิดช่องให้มีการบรรเทาภาษี โดยสามารถผ่อนภาษีได้ 3 งวด แต่ต้องจ่ายภายใน 3 เดือน

30. “ผังเมืองจำกัดการใช้ประโยชน์” ข้อกังวลนี้มาจากเจ้าของที่ดินในเชียงใหม่ มีที่ดินในเมืองแต่ถูกควบคุมด้วยผังเมืองที่ใช้ประโยชน์ได้น้อยลง แต่ราคาสูงมาก

แนวคำตอบ สามารถคัดค้านราคาได้ว่าประเมินเกินจริง แต่ต้องภายใต้ 3 เงื่อนไข 1.ที่ดินมีการซื้อขายต่ำกว่าราคาประเมินจริง ๆ 2.ประเด็นผังเมือง อาจต้องนำมาพิจารณาประกอบเพื่อกำหนดโซนนิ่งต่อไป

31. “ที่ดินตาบอด” ข้อกังวลคงมาจากกลัวว่าประเมินราคาสูงแล้วต้องจ่ายภาษีแพง

กรมธนารักษ์แจ้งว่า แปลงที่ดินถ้าไม่มีทางเข้า-ออกตีความเป็นที่ดินตาบอดไว้ก่อน เรียกว่ายกประโยชน์ให้เจ้าของทรัพย์ เพราะราคาประเมินต่ำมากเหลือ 25-50%

แต่ถ้ามีเคสที่ “ที่ดินตาดี” อยากเป็น “ที่ดินตาบอด” นามสกุลเดียวกัน หรือญาติกันมาช่วยกันซื้อกรรมสิทธิ์ล้อมที่ดินไว้ ถ้าสืบค้นเจอก็โดนเช็กบิลจ่ายภาษีตามจริง





Property Tax Guru อิสระ บุญยัง กฎหมายทรัพย์สิน 4 ฐานภาษี บริหารจัดการอย่างไรให้สมประโยชน์

สัมภาษณ์พิเศษ

ดีเวลอปเปอร์วัย 61 กะรัต อดีตนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร 2 สมัย ที่มีฉายา “ดาต้าเบสเคลื่อนที่” กับปัจจุบันที่สวมหมวกหลายบทบาท กรรมการบอร์ดจัดสรรกลาง นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ด จัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่กรุงเทพมหานคร กรรมการทรงคุณวุฒิในบอร์ดนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติ

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “พี่อ๋อย-อิสระ บุญยัง” CEO กลุ่มกานดาพร็อพเพอร์ตี้ ในช่วงจังหวะที่กฎหมายใหม่ “พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2562” หรือ property tax เตรียมบังคับจัดเก็บจริงในวันที่ 1 มกราคม 2563 ผู้ถือครองทรัพย์สินทั่วประเทศไทยมีข้อควรคำนึง และมีแนวทางบริหารจัดการทรัพย์สินเพื่อรับมือกฎหมายใหม่อย่างไร บนฐานภาษี 4 ประเภทที่มีอัตราจัดเก็บต่ำไปหาสูง เริ่มต้นจากที่ดินเกษตรกรรม ที่อยู่อาศัย อื่น ๆ (พาณิชยกรรม การค้า) และที่ดินเปล่า

Q : ภาพรวมพร็อพเพอร์ตี้แท็กซ์

พร็อพเพอร์ตี้แท็กซ์เป็นเรื่องใหม่มาก ๆ หลังจากจัดเก็บจริงแล้ว เชื่อว่ายังมีประเด็นคำถาม ร้องเรียน และอุทธรณ์เกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งกฎหมายออกแบบมาให้รายได้ภาษีเป็นรายรับให้กับหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อมีรายได้มากขึ้นก็จะนำกลับมาพัฒนาสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานให้กับประชาชนในท้องถิ่นโดยตรง

เป็นกฎหมายบังคับใช้ในฐานะเป็นพระราชบัญญัติ โดยกำหนดแนวทางปฏิบัติในช่วง 2 ปีแรกไว้เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น กรณีต้องการให้มีการปรับปรุงแก้ไขย่อมสามารถทำได้ แต่ต้องทำหลังจากปี 2563-2564 โดยสามารถไปแก้ไขในกฎหมายลูกได้

สถานะปัจจุบัน ฐานภาษีมี 4 ประเภท แต่เนื่องจากรัฐไม่ต้องการให้ประชาชนสับสนก็เลยอธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุดว่า ที่ดินที่ต้องเสียภาษี ถ้าไม่ใช่ประเภทเกษตรกรรมกับที่อยู่อาศัย รัฐตีความเป็นประเภท “อื่น ๆ” โดยหมายถึง ที่ดินพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม การค้าทั้งหลาย และรวมที่ดินเปล่าไว้ในฐานภาษีเดียวกันใน 2 ปีแรกด้วย

สำหรับการบริหารจัดการที่ดิน ประการแรก คุณต้องบริหารจัดการที่ดินไม่ให้เป็นประเภทอื่น ๆ หรือประเภทรกร้างว่างเปล่า เพราะที่รกร้างว่างเปล่าถูกชาร์จอัตราสูงสุดจนถึงเพดาน 3% หรือล้านละ 30,000 บาท แต่ที่ดินที่จะให้ผู้อื่นนำไปใช้ประโยชน์เพื่อเสียภาษีราคาต่ำประเภทเกษตรกรรม คุณจะเสียภาษีต่ำสุด และเป็นประโยชน์กับสังคมด้วย

กรณีที่ดินเปล่า ไม่ได้ทำการเกษตร ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย และไม่ได้ใช้ประโยชน์แน่ ๆ ในช่วงหลายปี ก็ควรจะให้เช่าหรือให้ผู้อื่นหรือญาติพี่น้องใช้ประโยชน์ทำเกษตร เสียภาษีในอัตราต่ำสุด และสังคมได้ประโยชน์ด้วย อันนี้น่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ แม้ว่าจะไม่สามารถกระจายการถือครองได้ แต่กระจายการใช้ประโยชน์ได้

ประการที่ 2 ผมเสนอว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. 7,700 แห่งควรประกาศหลักเกณฑ์ที่ดิน ที่จะให้ อปท.ได้นำมาใช้ประโยชน์เพื่อส่วนรวม เพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย แก้ปัญหาในการประกอบอาชีพทั้งอาชีพเกษตรกรรมและอาชีพอื่น

ประการที่ 3 เพื่อใช้เป็นประโยชน์เพื่อสังคมประเภทอื่น ๆ จริง ๆ ในกฎหมายมีอยู่แล้ว ใช้คำรวม ๆ ว่า ทรัพย์สินที่ยินยอมให้ราชการใช้ประโยชน์เพื่อสาธารณประโยชน์ ต้องเป็นทรัพย์สินที่ประชาชนใน อปท.ใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น ทำเลในเขตเมืองหรือท้องถิ่นมีความเจริญ อาจจัดเป็นลานตลาดนัดให้ชาวบ้านนำสินค้าเกษตรมาขายได้ แบบ rest area ที่เราเห็นทั่ว ๆ ไปทั่วประเทศ ก็เป็นประโยชน์แล้ว

การใช้ร่วมกัน อย่างเช่น ใช้เป็นลานกีฬาลานคนเมือง ลานอเนกประสงค์ ประชาชนในท้องถิ่นได้ใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ ผมอยากเห็นว่าแบบนี้ทำอะไรได้บ้าง และมีระยะเวลาเท่าไหร่ หรือทำประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัยก็ได้ เช่น บอกว่าคุณเอาไปใช้ประโยชน์เลย ผมมีที่ อบต.เอาไปใช้เลยสิบปี เอาไปจัดสรรทำบ้านน็อกดาวน์ คนมีรายได้น้อยอยู่ได้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯก็สามารถมีงบประมาณไปพัฒนาได้ แก้ปัญหาคนไร้บ้านโดยมีที่ดินที่คนบริจาคให้ใช้เป็นเวลาสิบปี

ซึ่งการที่จะมีรายละเอียดพวกนี้ ผมมองว่าเป็นเรื่องดี แม้ว่าไม่ได้กลับมาเป็นตัวภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่จะได้แก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมไปด้วย

Q : ที่ดินในเมืองคนแห่ปลูกกล้วย

ที่ดินเกษตรภาษีต่ำสุด การถือครองโดยบุคคลธรรมดามูลค่า 50 ล้านบาทแรกได้รับยกเว้น จากนั้นเป็นอัตราก้าวหน้าเช่น มูลค่า 50-75 ล้านเสียภาษีล้านละ100 บาท ที่ดินเปล่าราคาสูงในเมืองก็จะมองแนวทางเสียภาษีอัตราที่ดินเกษตร แต่ก็ยังมีเรื่องผังเมืองที่มีคำถามเยอะเหมือนกันว่า ถ้าอยู่สีลม สาทร อยู่ในตัวเมืองขอนแก่น โคราช อยู่ในผังเมืองสีแดงถ้าทำเกษตรแล้วรัฐคิดว่าไม่เหมาะสม อันนี้อาจไม่ถูกต้องเหมือนกัน

คือถ้าตีความกฎหมายอย่างเข้มงวด จะกลายเป็นว่าบังคับเจ้าของที่ดินราคาสูงในเมืองทุกคนต้องทำคอมเมอร์เชียล สิ่งที่เป็นห่วงจะเกิดปัญหาโอเวอร์ซัพพลายตามมา เพราะถ้าบอกว่าทำเกษตรกรรมไม่ได้คุณต้องทำพาณิชยกรรมเท่านั้นในพื้นที่สีแดง สีส้ม ก็โอเวอร์ซัพพลายแน่ ๆ

ฉะนั้น ข้อคำนึงฐานภาษีเกษตรกรรมสำหรับที่ดินมีมูลค่าสูงในเมืองว่าสามารถทำการเกษตรได้หรือไม่ ขัดกับประกาศที่จะออกมาหรือไม่ นี่คือประเด็น ยังไม่มีคำตอบชัดเจน ต้องรอประกาศแนบท้ายกฎหมายอย่างเดียว เป็นแนบท้ายกำหนดคำนิยามที่ดินเกษตรกรรม ออกโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คลังและมหาดไทย

Q : ข้อคำนึงที่อยู่อาศัย

ตอนร่างภาษี สมาคมต่าง ๆ เสนอลดหย่อน 3-5 ล้านเท่านั้นเอง ขยับไปขยับมา 10-20 ล้าน และเป็น 50 ล้านในที่สุด เอาล่ะ เราไม่มองในเจตนาไม่ดี เรามองในเจตนาดีว่าเขาจะเอื้ออำนวยให้คนมีบ้าน 1 หลัง ซึ่งต่างประเทศก็มีว่า บ้านที่อยู่อาศัยหลักไม่ควรเก็บภาษี อาจล้อกันมา แต่สังคมยุโรป สังคมอเมริกา เรียนยังไม่จบก็ต่างคนต่างไป ครอบครัวในสังคมตะวันออก ไม่พูดว่าสังคมไทยนะ มีความแตกต่างกัน

ตะวันตกเขายกเว้นให้ 1 หลัง แล้วก็มีการเทรดบ้านง่ายกว่าเรา เขามีวัฒนธรรมไม่ค่อยยึดติด ไม่ค่อยติดที่ แต่สังคมไทยยังมีวัฒนธรรมติดที่ ผมคิดว่าเรื่องนี้ ผู้ร่างอาจจะเข้าใจบริบทของชีวิตความเป็นอยู่สังคมไทยน้อยไปหน่อย เพราะเราเพิ่งมีการคลี่คลายของการเติบโตของสังคมเมือง เริ่มจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 5 เริ่มมีแผนพัฒนาเมืองหลัก

ประเทศไทยเมื่อก่อนยิ่ง mono centricเข้าไปใหญ่ มีศูนย์กลางเดียว ทุกอย่างอยู่กรุงเทพฯหมด คุณจะเอาโรงพยาบาลรักษาคุณพ่อคุณแม่ที่เจ็บป่วย มหาวิทยาลัย สถานที่ราชการ แม้แต่แบงก์ชาติเมื่อก่อนก็ไม่มีภาคอีสานภาคใต้ เมื่อก่อนก็อยู่กรุงเทพฯ ทุกอย่างอยู่กรุงเทพฯหมด

หลังจากนั้น เริ่มมีแผนพัฒนาฉบับที่ 5 ถ้าจำไม่ผิดนะ เริ่มมีการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค พยายาม push ให้โคราชโต ขอนแก่นโต มีมหา’ลัย หาดใหญ่ เชียงใหม่เป็นเมืองมหา’ลัย เพื่อให้เกิดเมืองหลักขึ้นหลาย ๆ เมืองเพื่อให้เป็นโพลีเซ็นทริกเริ่มเป็นประเทศที่มีหลายศูนย์กลาง แต่ด้วยความที่พื้นฐานสังคมไทยยังเป็นเกษตรกรรมร้อยละ 80-90% วัฒนธรรมไทยยังมีคำว่ากลับบ้าน ยังเป็นสังคมติดที่ เราจะเห็นเทศกาลสงกรานต์ ปีใหม่ ลอยกระทง ทุกคนกลับบ้าน

ถามว่าเกี่ยวข้องอะไรกับการยกเว้นเรื่องที่อยู่อาศัย ซึ่งรัฐยกเว้นที่อยู่อาศัย 50 ล้านบาท แต่จริง ๆ 10 ล้านก็หายากแล้วนะ (หัวเราะ) ฉะนั้น การยกเว้นราคา 50 ล้านบาท เจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการปกครองส่วนท้องถิ่น 1.คุณไปตัดการมีส่วนร่วม ซึ่งอันนี้ไม่อยากพูด เพราะกฎหมายบังคับใช้แล้ว จริง ๆ ควรจะเก็บทุกบ้านปีละ 100-200 บาท จะทำให้ประชาชนเฝ้ามองการทำงาน อปท. ซึ่งมี 7,700 แห่งทั่วประเทศ

2.สังคมไทยเพิ่งเริ่มเติบโตเป็นสังคมหลายศูนย์กลาง สังคมไทยยังผูกพันกับรากฐานของการเกษตร ฉะนั้น สังคมไทยคนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งอพยพมาเรียนหนังสือ มาทำงานใกล้เมือง ไม่ใช่เฉพาะในกรุงเทพฯนะ ต่างจังหวัดก็ด้วยใกล้เมืองหรือในเมือง เพียงเขาจะซื้อคอนโดมิเนียมอยู่สัก 1 ล้านบาท แล้วมีทะเบียนบ้านอยู่ต่างจังหวัดก็ต้องเสียภาษีแล้ว คนมี 3 ล้าน บ้าน 2 หลังรวมกัน 5 ล้าน อาจต้องเสียภาษี แต่คนเดียวมีหลังเดียว 50 ล้าน ไม่ต้องเสียภาษี

ซึ่งเราเคยเสนอ หอการค้าก็เคยเสนอว่าทำไมไม่นับรวม คุณอาจมีทรัพย์สิน 10 ล้านในต่างจังหวัด แต่คุณต้องเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ หรืออยู่บ้านแพ้วแล้วเข้ามาทำงานสีลม สาทร ซื้อคอนโดฯ 2 ล้านบาทอยู่อาศัยก็ต้องเสียภาษีแล้ว อันนี้มองในหลักความเป็นธรรม ยังมองไม่เห็นว่าเป็นธรรมยังไง

ข้อเสนอ คือ ยังไม่ยากที่จะกลับไปทบทวนเรื่องมูลค่ารวม เพราะรอให้กฎหมายบังคับใช้ก่อน 2 ปีแรก แล้วเป็นโอกาสทบทวนกฎหมาย ยังเป็นไปได้ที่จะใช้มูลค่ารวม อาจจะบอกว่าความจำเป็นมี 2 หลังก็ได้ แต่ถ้ามีหลังที่ 3 อาจเริ่มเสียภาษี เพราะพฤติกรรมสังคมไทย การมีหลังที่ 2 ยังมีความจำเป็น สำหรับคนที่ต้องทำงานในเมือง และยังต้องกลับบ้าน

ตอนนี้ทั่ว ๆ ไปไม่ต้องคนต่างจังหวัด เอาแค่บ้านอยู่นอกเมือง ถึงเวลาลูกเรียนหนังสือในเมืองก็ต้องส่งลูกเรียน ปัญหาการจราจรติดขัด มีคอนโดฯ 1 ห้อง เราเห็นมีเยอะคนกลุ่มนี้ และจะรู้หลังวันที่ 1 มกราคม 2563 อ้าว คอนโดฯไม่กี่ล้าน ทำไมต้องเสียภาษีด้วยเนี่ย (หัวเราะ)

สำหรับคนที่มีที่อยู่อาศัย ได้รับยกเว้นบ้านที่มีกรรมสิทธิ์ และมีชื่อในทะเบียนบ้านนั้น มีชื่อในทะเบียนบ้านโดยไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าบ้าน ก็ถือว่าเป็นบ้านหลังแรก ตอนแรกเขาใช้คำว่า บ้านหลังแรก ผมเป็นคนทักท้วงด้วยว่า ในสรรพากรใช้คำว่าหลังหลัก ภาษีที่ดินก็น่าจะใช้หลักเดียวกัน

Q : ความสำคัญชื่อในทะเบียนบ้าน

องค์ประกอบการได้รับยกเว้นภาษี 50 ล้านบาท คือ 1.กรรมสิทธิ์บ้านเป็นของใคร และ 2.มีชื่อในทะเบียนบ้านนั้น ถ้าตัวเองซื้อคอนโดฯ คือมีกรรมสิทธิ์ แต่ชื่อยังอยู่ในทะเบียนบ้านพ่อแม่ แบบนี้คอนโดฯก็ต้องเสียภาษีตั้งแต่บาทแรก สรุปคือถ้าไม่ได้เอาชื่อเข้าทะเบียนบ้านหลังไหนเลย ก็จะเสียภาษีทุกหลัง

ถึงแม้จะผ่อนอยู่ก็เป็นกรรมสิทธิ์ของเรา ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของแบงก์นะ ถ้าเรามีบ้านหลายหลังก็ควรจะต้องเลือก ให้มีชื่อในกรรมสิทธิ์ในทะเบียนบ้านหลังที่มีมูลค่าสูงสุด เพื่อใช้สิทธิ์บ้านหลังหลัก ส่วนผู้อาศัย (ในทะเบียนบ้าน) ไม่เกี่ยวข้องอะไร เพราะถือว่าเจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นผู้ที่จะต้องเสียภาษี

Q : ประเด็นการกู้ร่วม

ผู้บริหารภาครัฐตอบชัดเจนแล้ว เช่น พี่น้องกัน พี่ชายมีบ้าน 1 หลัง มีทะเบียนบ้านด้วย ต่อมาพี่ซื้อบ้านอีก 1 หลัง กู้ร่วมกับน้องสาว ถามว่าเป็นบ้านของน้องสาวแน่ ๆ แต่พี่มีชื่อในทะเบียนบ้าน เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ด้วย คำถามคือบ้านกู้ร่วมจะกลายเป็นบ้านหลังที่ 2 ในการเสียภาษีหรือไม่

ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องเสียภาษี คำตอบแบบให้อัดเทปด้วยนะ ผู้กู้ร่วมไม่ต้องเสียภาษี เพราะถือว่าเข้าองค์ประกอบ คือ 1.เป็นกรรมสิทธิ์ ในที่นี้คือกรรมสิทธิ์ของพี่ชายกับน้องสาว 2.น้องสาวมีชื่อในทะเบียนบ้าน ถือว่าครบองค์ประกอบแล้ว คำว่าไม่ต้องเสียภาษีเพราะน้องสาวขอยกเว้นมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านได้

เรื่องนี้ก่อนหน้านี้ไม่มีใครตอบชัด (ยิ้ม) แต่ตอนนี้ถือว่าได้แล้ว เพราะการกู้ร่วมเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยทั่ว ๆ ไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะสถาบันการเงินต้องการให้ secure ต้องการให้สินเชื่อแข็งแรง ก็คือไม่ใช่กู้ร่วมอย่างเดียว แต่ต้องมีกรรมสิทธิ์ร่วมด้วย เวลาบังคับหนี้ก็บังคับทั้ง 2 คนอยู่แล้ว ผู้กู้ร่วมถ้าไม่ใส่ชื่อเป็นกรรมสิทธิ์ร่วม แบงก์จะบังคับภาระหนี้ได้แต่เจ้าของกรรมสิทธิ์คนเดียว ทวงหนี้ (ผู้กู้ร่วม) ได้อย่างเดียว แต่ยึดอายัดทรัพย์อะไรไม่ได้

แต่ว่าการมีชื่อเป็นกรรมสิทธิ์ ผมคิดว่าคงต้องมีช่วงเวลาที่สถาบันการเงินต้องปรับตัวด้วยเหมือนกัน การที่จะผูกขาให้ผู้กู้ร่วมต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วม มันก็จะมีผลกระทบต่อเกณฑ์ LTV-loan to value (มาตรการบังคับเงินดาวน์ 20% ในการขอสินเชื่อซื้อบ้านหลังที่ 2) แต่แบงก์ชาติก็ปลดล็อกให้แล้วว่า ถ้ากู้ร่วมแบบไม่ถือกรรมสิทธิ์ร่วม ไม่นับ

แต่บ้านหลังที่ 3 ไม่ได้แล้วนะ เพราะคนเรามีชื่อในทะเบียนบ้านได้หลังเดียว (หัวเราะ) เรามีกรรมสิทธิ์ในบ้าน 100 หลังก็ได้ แต่มีชื่อในทะเบียนบ้านได้แค่หลังเดียว

ทั้งนี้ ยังมีคำถามที่ผมคิดว่ายังตอบไม่ชัด นาย ก มีที่ดิน 100 ตารางวา ไม่ได้ใช้ประโยชน์ นาย ข ไปเช่าแล้วปลูกบ้านราคา 7 ล้าน นาย ข ได้รับยกเว้นกรณีนี้ 10 ล้านบาทแรกแน่ ๆ สำหรับ “ที่ดินต่างเจ้าของ” คำถามคือ นาย ก ต้องเสียภาษีเท่าไหร่ เสียภาษียังไง ระหว่าง “ให้เช่า” หรือ “ให้ใช้ประโยชน์”

ยังมีคำถามมากกว่านั้นอีก อาจบอกว่าพี่น้องกัน คนในครอบครัว พ่อกับลูก ที่ดินพ่อยังไม่ได้ยกให้ใคร ลูกหลายคนก็ต่างคนต่างปลูกบ้านไปเหอะ แต่ละคนได้รับการยกเว้นเพราะราคาตัวบ้านไม่เกิน 10 ล้านบาท เจ้าของที่ดินคือพ่อต้องเสียภาษียังไง พ่อลูกกันเสียภาษียังไง เจ้าของที่ดินเป็นบุคคลอื่น เสียภาษียังไง อันนี้คำตอบยังไม่ชัด ซึ่งกรณีแบบนี้ต้องชัดนะ เพราะเกิดขึ้นเยอะแยะ ก็คือให้เช่าปลูกบ้าน

ผมคิดว่าทำไมเราไม่ตีความว่า ผู้ที่ต้องเช่าเขาอยู่ เป็นคนที่อาจจะมีความสามารถน้อยกว่าการซื้อเป็นกรรมสิทธิ์อยู่แล้วนะ ในชีวิตจริงมีคนที่ไปเช่าที่ดินเขาอยู่ แล้วปลูกบ้านแค่ 2-3 แสนบาท เยอะแยะเลย ถามว่านับเจ้าของที่ดินยังไง ถ้าคิดเขาเป็นแบบเจ้าของที่ดินเข้าประเภท “อื่น ๆ” ก็ต้องเสียภาษีล้านละ 3,000 บาท แทนที่จะล้านละ 200 บาท ตามประเภทที่อยู่อาศัย

กรณีนี้ผมฝากเป็นความเห็นไว้ก็แล้วกันว่าให้เช่าปลูกบ้าน เห็น ๆ อยู่แล้วเช่าทำเป็นที่อยู่อาศัย ควรคิดในอัตราที่อยู่อาศัย ตัวบ้านไม่เกิน 10 ล้านก็ยกเว้นไป ตัวที่ดินก็ควรเสียในอัตราที่อยู่อาศัย เพราะให้เช่าเพื่ออยู่อาศัย ประเด็นคือถ้าไม่ทำอย่างนี้ ภาษีจะถูกผลักไปให้ผู้บริโภคขั้นสุดท้าย (end user) ค่าเช่าที่จะแพง

ในแง่ของการเสียภาษีจริง รัฐจะบอกว่า อ๋อ เจ้าของหรือผู้ประกอบการเป็นผู้เสียภาษี อันนั้นเป็นคำพูดทางกฎหมาย แต่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติ อะไรก็แล้วแต่ที่ภาคธุรกิจต้องเสียภาษี ภาคธุรกิจย่อมคิดเป็นต้นทุน หรือค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น และต้องบวกไปในราคาทั้งสิ้น เช่น ภาษีธุรกิจเฉพาะ (3.3%) ผู้ประกอบการต้องจ่ายนะ ก็ผู้ประกอบการบวกไปแล้ว ถึงจะมาคิดกำไรขาดทุน

วันนี้เช่นเดียวกัน เราบอกว่าเป็นที่ดินของพ่อแม่ พี่น้อง เพื่อน แล้วไปปลูกบ้านอยู่ในนั้น ที่ดินที่ให้ปลูกบ้าน (รัฐ) ยังตีความเป็น “อื่น ๆ” เสียภาษีล้านละ 3,000 บาท แทนที่จะล้านละ 200 บาท ข้อต่อมา ผมทักท้วงบนเวทีสัมมนา สำหรับที่อยู่อาศัยเหมือนกัน ที่เป็นโฮมสเตย์ บูทีคอพาร์ตเมนต์ พวกให้เช่าบ้านหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบ้านเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ต้องเสียภาษียังไง คำตอบที่ได้รับ ต้องเสียแบบ “อื่น ๆ” แทนที่จะเสียล้านละ 200 บาท ต้องเสียล้านละ 3,000 บาท

เรื่องนี้ (รัฐ) ไม่ได้ตอบปฏิเสธ ตอบว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าทำสัญญาเช่าเกิน 3 ปี จะตีความว่าเป็นที่อยู่อาศัย หลักฐานก็คือการไปจดทะเบียนการเช่าที่กรมที่ดิน ซึ่งผมคิดว่าถูกต้อง ถูกหลัก แต่ผมคิดว่าสำหรับการเช่า ปกติทำสัญญามักไม่เกิน 3 ปี และผมถามกรมที่ดินแล้วไม่จดทะเบียนให้ ไม่ใช่หน้าที่ กฎหมายบอกว่าไม่ต้องจด ไปทำสัญญากันเองได้เลย

ถามว่าถ้าเช่าไม่เกิน 3 ปี มีผลยังไง ถ้าไม่ได้รับการยกเว้น ความเห็นผมคือไม่เป็นธรรมกับผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง ผมถึงได้บอกว่าหน้าสุดท้ายของคู่มือ (คู่มือภาษีที่ดินกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) เรื่องนี้ติดว่าต้องทบทวน เพราะเจตนากฎหมายนี้จะไม่กระทบผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง

การที่มีสัญญาเช่าและต้องแสดงให้เห็น เขาอาจได้รับการลดหย่อนภาษีในอัตราที่อยู่อาศัยจากล้านละ 3,000 เหลือล้านละ 200 แต่แน่นอนทำให้ผู้ให้เช่าก็ต้องแสดงหลักฐานการเช่า นั่นคือต้องไปเสียภาษีเงินได้ ผมถือว่าทำแบบนี้ถูกต้องตามหลักการที่สุด ถ้าคุณมีรายได้จากการให้เช่าก็ต้องเสียภาษี อันนี้ถูกต้องเป็นธรรม ไม่เช่นนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ทุกคนจะไม่แจ้งการเช่า

Q : อสังหาฯให้เช่าทุกวันนี้ก็ไม่แจ้ง

นั่นแหละคือสิ่งที่จะเกิด อพาร์ตเมนต์เลี่ยงไม่ได้เพราะเห็นชัด ๆ ว่าเป็นอพาร์ตเมนต์ เวลาท้องถิ่นสำรวจก็เห็นอยู่ แต่คนที่เอาบ้านตัวเองหนึ่งหลัง หรือคอนโดฯหนึ่งหลังไปให้เช่า ถามว่าใครจะไปตรวจสอบได้ และทำธุรกรรมเป็นเงินสด ซึ่งมีนักกฎหมาย นักบัญชี ออกมาให้คำแนะนำแล้วว่าให้ทำธุรกรรมเช่าเป็นเงินสด

ความเห็นผมไม่ควรต้องทำให้คนหลบเลี่ยงภาษีนะ เป็นเรื่องที่คิดว่าควรปรับแก้ไข อย่างน้อยทำทุกอย่างให้ถูกต้องอยู่บนโต๊ะให้หมด โดยที่ดินประเภทอื่น ๆ มีประเด็นว่าจะบริหารยังไง ผมไม่แนะนำในการให้หลบเลี่ยงภาษี และไม่แนะนำในการให้กฎหมายต้องเปิดช่องให้คนไปหลบเลี่ยงภาษี กรณีนี้ผมยกตัวอย่างบนเวทีสัมมนาว่า ที่ดินเป็นของบริษัท A เจ้าของอาคาร คือบริษัท B เสียภาษี 6 ล้านบาท แต่อาคารเดียวกัน ถ้ามีเจ้าของเดียวกัน เสียภาษี 7.2 ล้านบาท บนที่ดินแปลงเดียวกัน

จากตัวอย่าง ที่ดินของบริษัท A อาคารเป็นของบริษัท B เสียภาษีน้อยกว่าล้านกว่าบาท ในมูลค่าทรัพย์สินเท่ากัน เหตุผลเพราะภาษีเป็นอัตราก้าวหน้า เจ้าของเดียวกันกับต่างเจ้าของเสียภาษีต่างกัน เจ้าของเดียวกันเสียภาษีเยอะกว่าต่างเจ้าของ

ในช่วงของการร่างกฎหมาย ทั้งสมาคมอสังหาฯ ทั้งสภาหอการค้าฯก็เสนอไปในมุมมองเดียวกันว่า ควรเป็นอัตราเดียว จะไม่เกิดเรื่องนี้

หรือแยกคำนวณที่ดินก็ที่ดิน อาคารก็อาคาร แล้วเสียภาษีทั้งคู่ อาจเป็นเจ้าของเดียวกันก็คำนวณอย่างนี้ เป็นเจ้าของทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ก็คำนวณทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเสียภาษีอัตรานี้

Q : ทำไมเสียภาษีไม่เท่ากัน

เพราะทุกอย่างเป็นอัตราก้าวหน้าหมด (อัตราขั้นบันได) อันนี้ทำให้คนไปซอยที่ดิน เป็นคนละนิติบุคคลก็ได้ ตัวอย่าง ที่ดินเกษตร บริษัทเป็นเจ้าของมูลค่า 500 ล้านบาท เสียภาษี 2 แสนบาท แต่ถ้า 5 บริษัทเป็นเจ้าของ แบ่งกันถือกรรมสิทธิ์ เสียภาษีรวมทั้งหมดเหลือ 7.5 หมื่น สรุปคือเจ้าของเดียวเสียเบิ้ล เสียเยอะ

ทางภาครัฐก็รับข้อเสนอไป ซึ่งผมเสนอว่าควรคิดภาษีแยกไม่ว่าเจ้าของเดียวกันหรือต่างเจ้าของ ภาษีจะเป็นธรรมทั่วถึงเท่ากันหมด กล่าวคือเสีย 2 ก้อน ภาษีจากที่ดิน กับภาษีจากสิ่งปลูกสร้าง

ยังมีกิจกรรมบางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยส่วนรวม เช่น ตลาดใกล้เมือง หรือในเมือง ไม่เช่นนั้นทุกคนต้องถูก force ให้เข้าห้าง กับปั๊มน้ำมัน คิดเร็ว ๆ ยังคิดอย่างอื่นไม่ค่อยออก กิจการเหล่านี้ถ้าคิดภาษีล้านละ 3,000 บาทจะหายไปอยู่ไม่ได้ อาจจะ cap ไว้ก็ได้ว่ากิจการเหล่านี้ซึ่งเห็นชัด ๆ ว่ามีอะไรบ้าง ควรอยู่ในอัตราตามมาตรา 55 คือลดหย่อนภาษีได้

พ.ร.บ.นี้ผมอาจจะผิดหวังอยู่บ้าง แต่ก็มีข้อดีเยอะนะ ข้อดีคือไม่ตึงจนเกินไป มีอัตราลดหย่อน 60% 90% เพราะฉะนั้น ค่อย ๆ ปล่อยออกมาสำหรับกิจการบางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

Q : ห้าง ผู้เช่าห้าง โรงแรมทำยังไง

ผมจะบอกว่ามี 2 ลักษณะ ทำไมมีลักษณะธุรกิจบางประเภทไม่ออกมาส่งเสียงอะไรเลย เดิมทีกลุ่มห้างสรรพสินค้ากฎหมายเดิม (ภาษีโรงเรือน) เสียภาษี 12.5% ของภาษีรายปี ตีซะว่าเป็นค่าเช่าก็แล้วกัน ตีความยาก การประเมินภาษีใช้ดุลพินิจ ซึ่งกฎหมายภาษีทรัพย์สินออกมาผมเห็นด้วยอย่างยิ่งที่ลดการใช้ดุลพินิจ

ห้างเหล่านี้ถ้าอยู่ในทำเลที่มีรายได้สูง สมมุติทำเลชานเมือง ห้างมีแบรนด์กับไม่มีแบรนด์อยู่ฝั่งตรงข้ามกัน ห้าง A อัตราเช่าสูงมาก 1,000 บาท/ตารางเมตร ห้าง Bได้ 500 บาท/ตารางเมตร คนเข้าน้อยกว่าผู้เช่าไม่เต็มอีกต่างหาก แต่ว่าขนาดที่สร้างไว้ใหญ่เท่ากัน ห้าง A ทำรายได้ดีกว่าจะถูกลดภาระภาษีจากกฎหมายนี้ เพราะคำนวณแค่ที่ดินกับสิ่งปลูกสร้าง ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับค่ารายปี ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับค่าเช่า ห้าง B ที่รายได้น้อยตีราคามูลค่าที่ดินเท่ากัน มูลค่าสิ่งปลูกสร้างเท่ากัน โดนหนัก

ห้างบางห้างไม่คัดค้าน เนื่องจาก 1.อยู่ในไพรมแอเรีย ราคาสิ่งปลูกสร้างกับราคาประเมิน เขาเช่าที่มาก็เสียต่ำกว่าห้างที่เป็นเจ้าของที่อยู่แล้ว 2.ปกติคำนวณค่ารายปีโดนสูงกว่า แต่กฎหมายใหม่คิดเฉพาะที่ดินกับสิ่งปลูกสร้าง จะมีบางกลุ่มที่ได้ประโยชน์และไม่คัดค้านกฎหมาย นั่นคือ property tax ไม่ได้หมายความว่า ทุกธุรกิจได้รับผลกระทบ บางธุรกิจได้รับผลกระทบน้อยกว่า กล่าวคือ มีที่ดินและอาคารด้วยมูลค่าเดียวกัน แต่ครีเอตรายได้สูงกว่า

Q : โรงแรมห้องพักราคาแพงขึ้น

ผมเชื่อว่าไม่แพงกว่าเดิม โรงแรมหรือห้างในไพรมแอเรียไม่น่าจะแพงกว่าเดิม ไม่น่าจะรับภาระภาษีสูงไปกว่าเดิม ผมเชื่ออย่างนั้น แต่ห้างที่ครีเอตรายได้ไม่ค่อยได้ ห้างชานเมืองหรือคอมมิวนิตี้มอลล์ อาจรับภาระภาษีสูงขึ้นได้ ห้างหรืออาคารซึ่งมีปัญหาในทางการเงินยิ่งจะมีปัญหา เพราะว่าตอนวิกฤตเศรษฐกิจ ห้างที่สร้างไว้ ทิ้งร้างอยู่ ก็ต้องเสียภาษีนะ จะมีปัจจัยบรรเทาภาษีหรือเปล่า ผมยังไม่เห็นนะ

Q : ข้อคำนึงที่ดินเปล่า

ก็อยู่ในประเภทอื่น ๆ ต้องพยายามให้ใช้ประโยชน์ เพื่อไม่ต้องเสียอัตราที่ดินรกร้างว่างเปล่า


วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2563


ยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุขจีนแผ่อิทธิพลเอเชีย-เสริมมั่นคงพลังงาน

วันที่ 19 ก.พ. 2556 เวลา 08:56
ยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุขจีนแผ่อิทธิพลเอเชีย-เสริมมั่นคงพลังงาน


นับตั้งแต่จีนเริ่มปฏิรูปและเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น ในปี 1978 เศรษฐกิจของประเทศก็ก้าวทะยานขึ้นมามีบทบาทสำคัญในระดับโลกอย่างต่อเนื่อง และในปี 2010 จีนก็สามารถแซงหน้าญี่ปุ่น ขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐได้อย่างเต็มภาคภูมิ

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าการแผ่ขยายอิทธิพลของจีน จะยังไม่หยุดยั้งความยิ่งใหญ่เอาไว้เพียงแต่เท่านี้ เพราะล่าสุดรัฐวิสาหกิจของจีน ด้านการจัดการท่าเรือ ชื่อว่า “ไชน่าโอเวอร์ซี พอร์ต โฮลดิง” ได้เตรียมหวนกลับเข้าไปเทกโอเวอร์ และดำเนินงานบริหารท่าเรือน้ำลึก“กวาดาร์” ในประเทศปากีสถานอีกครั้ง หลังจากที่คณะรัฐมนตรีปากีสถานให้การอนุมัติการเปลี่ยนตัวบริษัทผู้ดูแลโครงการท่าเรือดัง จากเดิมที่เป็นของบริษัทพีเอสเออินเตอร์เนชันแนลจากสิงคโปร์ มาให้กับบริษัทจากจีนดังกล่าวแทนเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา

    ทั้งนี้ แม้การเข้าไปเทกโอเวอร์ท่าเรือยุทธศาสตร์ “กวาดาร์” ในปากีสถานของรัฐวิสาหกิจจากจีนดังกล่าวจะไม่ได้เป็นข่าวใหญ่โต แต่ทว่าหากมองถึงความสำคัญและสิ่งที่จีนจะได้จากโครงการการลงทุนดังกล่าว ล่าสุดแล้วต้องยอมรับเลยว่าเป็นก้าวย่างที่สำคัญของแดนมังกรที่จะผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางทะเลในเร็วๆ นี้ สิ่งนี้ถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามด้วยประการทั้งปวง

เนื่องจากการได้มาซึ่งท่าเรือ “กวาดาร์” ในปากีสถาน ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ใกล้กับทะเลอาหรับ และช่องแคบฮอร์มุซ รวมถึงมหาสมุทรอินเดีย ก็จะช่วยเอื้อประโยชน์แก่จีน ในด้านความมั่นคงทางพลังงาน แถมยังช่วยลดต้นทุนและย่นระยะเวลาในการขนส่งน้ำมันและทรัพยากร ที่นำเข้ามาจากตะวันออกกลางและแอฟริกาได้เป็นอย่างมาก เพราะเส้นทางเดิมต้องไปอ้อมไกลถึงช่องแคบมะละกาของสิงคโปร์

นอกจากนั้น ท่าเรือ “กวาดาร์” ยังจะเป็นการช่วยเพิ่มช่องทางการออกสู่ทะเลทางด้านตะวันตกให้กับจีนอีกด้วย ซึ่งจะถือเป็นการช่วยให้จีนสามารถเข้ามาขยายอิทธิพลในแถบเอเชียใต้ได้มากขึ้น

ปัจจุบันทะเลจีนด้านตะวันออกกำลังเผชิญทั้งปัญหาข้อพิพาทด้านพรมแดนกับหลายประเทศ ทั้งญี่ปุ่นและหมู่เกาะทะเลจีนใต้กับประเทศในอาเซียน ขณะที่สหรัฐก็ทำท่าว่าจะหันมาบีบและปิดล้อมจีนผ่านการสร้างพันธมิตรทางทหาร และฐานทัพทั่วทั้งฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกมากขึ้น ไล่ตั้งแต่ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ไปจนถึงออสเตรเลีย

ดังนั้น การมีทางออกทะเลเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งจึงถือเป็นยุทธศาสตร์ทางการทหารและการเมืองที่สำคัญ ภายใต้สถานการณ์ที่กำลังถูกปิดล้อมจากสหรัฐในเวลานี้

ถึงกระนั้นการขยายตัวทางด้านทะเลของจีนก็ไม่ได้หยุดเพียงเท่านั้น เพราะจีนยังให้การสนับสนุนเงินทุนและการพัฒนาท่าเรือในอีกหลายประเทศ ที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้ที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญทางทะเลอีกด้วย ซึ่งยุทธศาสตร์ดังกล่าวถูกเรียกรวมว่าเป็น “สายสร้อยไข่มุก” ซึ่งมีศักยภาพและการวางยุทธศาสตร์ที่คล้ายคลึงกับการวางฐานทัพเรือของสหรัฐ โดยจะกระจายตัวอยู่ทั่วทั้งเอเชียตะวันออก และเอเชียใต้ ไปจนเกือบถึงตะวันออกกลาง

ไล่เรียงไปตั้งแต่โครงการก่อสร้างท่าเรือบก ลาชา ในประเทศเนปาล โดยมีทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้กับชายแดนทิเบต ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นงบที่จีนทุ่มงบลงทุนไปกว่า 14 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 406 ล้านบาท) ขณะที่เดียวกันก็มีรายงานด้วยว่า จีนกำลังสนใจที่จะเข้าไปลงทุนสร้างท่าเรือน้ำลึกเกาะโซนาเดีย ในอ่าวเบงกอง ประเทศบังกลาเทศ ซึ่งมีมูลค่ากว่า 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ(ราว 1.45 แสนล้านบาท) อีกด้วย และก่อนหน้านั้นไม่นานจีนก็เคยเข้าไปเสนอตัวว่าต้องการจะเข้าไปพัฒนาท่าเรือจิตตะกง ในประเทศดังกล่าวมาแล้ว

ขณะที่เมื่อเดือน มิ.ย.ปีที่แล้ว ท่าเรือน้ำลึกฮัมบันโตตาในประเทศศรีลังกา มูลค่ากว่า450 ล้านเหรียญสหรัฐ(ราว 1.3 หมื่นล้านบาท) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ที่ได้มาจากจีนอีกเช่นกันก็เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการไป และท่าเรือแห่งนี้ ก็ตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์การเดินเรือระหว่างเอเชียใต้กับเอเชียตะวันออกที่สำคัญมาก และมีเรือเข้าออกประมาณ300 ลำต่อวัน

ไม่เพียงเท่านั้น จีนยังเป็นตัวการสำคัญในการส่งเสริมการก่อสร้างท่าเรือและท่อก๊าซในพม่า เมือง 2 เมืองท่าสำคัญอย่าง จ็อคเผี่ยว และสิตตะเว เพื่อใช้เป็นเส้นทางในการขนถ่ายก๊าซและน้ำมันที่ขุดเจาะได้จากชายฝั่งพม่า และที่ส่งมาจากแอฟริกาและตะวันออกกลาง เข้าสู่มณฑลยูนนานของจีนอีกทอดหนึ่ง ซึ่งคาดว่าโครงการดังกล่าวจะเสร็จสิ้นในเดือน พ.ค.นี้

หลังจากที่ได้รับทราบแผนการขยายอำนาจทางทะเลด้านตะวันตกตามยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุกของจีนแล้ว เมื่อลองหันกลับมามองดูในภาพรวมเข้ากับแผนยุทธศาสตร์ในการเชื่อมโยงกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) โดยใช้โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ที่เริ่มจากเมืองคุนหมิงทางตอนใต้ของจีน มายังลาว ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ขณะที่อีกเส้นคือเชื่อมต่อมาทางพม่า ไทย และมุ่งสู่ปลายทางที่สิงคโปร์ มาปะติดปะต่อกันก็จะพบว่ายุทธศาสตร์การรุกของจีนก้าวนี้เป็นย่างก้าวที่ยิ่งใหญ่มาก

เพราะนอกเหนือจากจีนจะได้ทั้งประโยชน์ทางเศรษฐกิจการค้า ความมั่นคงทางพลังงาน และความมั่นคงทางการเมือง การทหารไปพร้อมๆ กันแล้ว ก็ยังจะเป็นการช่วยพัฒนาและกระจายความเจริญของประเทศจีนในภาคตะวันตก เช่น ในมณฑลซินเจียงและตอนใต้บางส่วนให้มากขึ้นอีกด้วย ซึ่งแนวทางดังกล่าวยังเป็นช่วงประจวบเหมาะกันกับการที่ผู้นำจีนคนใหม่กำลังหันมามุ่งเน้นการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างจีนทางภาคตะวันออกที่พัฒนาจนมั่งคั่งและรวยล้นฟ้า กับทางตะวันตกที่ยังจนไม่มีจะกินอย่างพอดิบพอดี

ฉะนั้น ก้าวเดินของพญามังกรจีน ต่อแต่นี้ไปจึงเป็นที่น่าจับตามองทุกฝีก้าวจริงๆ