วันพุธที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

โน๊ตและอัลบั้นในไลน์


*เรื่องน่ารู้ของกลุ่มLine*
อาจมีปัญหากลุ่ม Line ที่ชอบเก็บข้อมูลใน Note ของกลุ่ม ทำให้กิน memory เยอะ และคนอื่นไม่สามารถลบ Note ที่ตนเองไม่ได้โพสต์ เพราะ Note ต้องให้คนที่โพสต์เป็นผู้ลบข้อมูลเท่านั้น
การแก้ไขลบ Note นี้ต้องบอกกันในกลุ่มให้คนโพสต์ช่วยลบ ไม่เช่นนั้นทุกคนในกลุ่มนั้นจะถูกกิน memory เยอะมาก และจะติดตัวเครื่องตลอด ถ้ายังไม่ได้ลบออกไป ใครเข้ากลุ่มใหม่ก็จะต้องโดนกิน memory จากกลุ่มนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ถ้าคนโพสต์Note ที่กินพื้นที่เยอะๆเกิดตายไปหรือเปลี่ยนไลน์ใหม่แล้วยังไม่ได้ลบออก ข้อมูลก็จะยังคงติดอยู่ท่ีNote ของกลุ่ม บางทีอาจจะต้องปิดกลุ่มนั้น เพื่อสร้างกลุ่มใหม่มาแทน แต่ก็จะเสียเวลา invite เข้ากลุ่มใหม่อีก
  

(Pink Cellphone)คำชี้แจง Note ห้อง และ Album ห้อง
ไม่กินMemory

เก็บไว้ดู จะได้ไม่ต้องเถียงกันอีก

1...ทั้งNoteห้อง และอัลบั้มห้อง..ไม่กิน memory ในmobileของใครเลยเพราะเก็บในserver ของLine

2...ที่กินที่ ram+memory ของmobile คือ ข้อความแชทและภาพที่รับ-ส่งกันในกระดานสนทนา ซึ่งควรล้างออกทุกวันจะได้พื้นที่ ram+memory คืนมา

3...อีกรายการที่ใช้พื้นที่มากคือการsave ภาพที่รับ-ส่งไว้ในแกลเลอรี่ของmobile

4...อัลบั้มในห้องLine มีโควต้าห้องละ100อัลบั้ม.อัลบั้มละไม่เกิน1,000 ภาพ.สมาชิกทุกคนเข้าเพิ่มภาพและลบภาพได้

ถ้าลบภาพจะเป็นการลบออกจากserver ของLineอย่างถาวร.กู้กลับคืนไม่ได้

5.. Note ในLine ไม่มีโควต้า.
ถ้าเก็บเยอะก็ค้นหายากหน่อย.และผู้นำเข้าเท่านั้นที่จะลบได้

.บางครั้งจึงควรใช้เฉพาะกิจ.หมดกิจกรรมหรือหมดประโยชน์ก็ลบออก

6...การท่องเนท
...รับ-ส่งโทรศัพท์
...รับ-ส่งSMS
...downloadภาพ-เพลง-เกมส์-appต่างๆ
...ถ่ายภาพด้วยmobile
ล้วนเป็นกิจกรรมที่กินพื้นที่ram และmemory ทั้งนั้น.

...จึงควรเข้าไปตรวจดูว่า.รายการเหล่านี้ใช้ram
+memoryไปเท่าไร.
.ถ้าลบประวัติการใช้หรือรายการที่ไม่จำเป็นออกบ้างก็จะได้พื้นที่คืนมาทันที

7.  ตรวจดูเสมอว่า RAM ควรมีพื้นที่ว่างไม่น้อยกว่า15%
mobile จึงจะทำงานได้ปกติไม่อืดค่ะ

เครดิต-ทิพย์วรรณ-TIP
มือถือช้า-อืด-เม็มเต็ม
วิธีแก้
http://www.youtube.com/watch?v=f8Y0jXugXsk

วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ตระกูลจารุไพบูลย์ สายนายประกอบ

  ข้อมูลจากอ๋า
     บ้านที่ว่านี้ ตั้งอยู่ริมคลองขุด(มหาสวัสดิ์) ที่ณ.วันนี้คือ ฝั่งกรุงเทพฯ เขตทวีวัฒนา ที่ฝั่งตรงข้าม เยื้องกับบ้านกำนันเชื้อ อุดมศิลป์ ทีมีศักดิ์เป็นตาคนหนึ่ง อยู่กึ่งกลางระหว่างประตูน้ำ กับวัดใหม่ผดุงเขต

ฉันไม่รู้ว่ามาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร เมื่อไหร่ เพราะยังเล็กมากๆ เพิ่งมาถามกับแม่เมื่อหลังอายุ 60 ปี แล้วได้ความว่า

ที่แปลงนี้เป็นของก๋งกับอาม่า

ก๋ง อาม่า มีลูก 3 คน

คนโต นายกวย หรือประกิต จารุไพบูลย์
คนที่สอง อาโก นางปลิว ทาประเสริฐ
คนสุดท้องคือเตี่ย นายประกอบจารุไพบูลย์

(รายละเอียด จะขอยกยอดไปพูดต่างหากในครอบครัวของเรา)

ที่ที่เรามาอยู่ริมคลองนี้ ทราบว่าได้ให้เวียนมาใช้ทำกิน(เกษตร) ครอบครัวละ 3 ปี และเป็นรอบที่ครอบครัวเรามาใช้ประโยชน์พอดี

ที่แปลงนี้ ด้านหน้ายาวขนานลำคลองขุด ลึกลงไปจนติดทางรถไฟสายไต้ ความยาวจากทางรถไฟจนถึงริมคลองประมาณ 120 เมตร

แม่กับเตี่ย พาเรามาอยู่ที่นี่ ตั้งแต่ยังเล็กมาก มาอยู่แบบง่ายๆติดดิน กับบ้านที่น่าว่าจะเรียกว่า”กระต๊อบ”จะเหมาะกว่า เพราะเป็นบ้านที่ไม่มั่นคง แข็งแรงอะไรเลย ตัวบ้านอยู่บนพื้นดิน เป็นกระต๊อบมุงจาก ตั้งขนานกับริมคลอง ห่างจากคลองประมาณ 8 เมตร ตัวบ้านมี 2 ส่วน

ส่วนในบ้าน มีความยาวประมาณ 9 เมตร กว้างประมาณ 6 เมตร หลังคาบ้านมุงด้วยจาก ฝาบ้านเป็นไม้ไผ่ขัดแตะรอบบ้าน พอกันแดดกันฝนได้ระดับหนึ่ง

ในบ้านแบ่งเป็น 2 ซีก

ถ้ามองตามความยาวขนานตัวบ้าน ตามแนวออก_ตก บ้านจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนเหนือ_ไต้

ครึ่งบ้านด้านทิศไต้ เมื่อเปิดประตู(ประตูขัดแตะเช่นเคย) เข้าไป จะเป็นพื้นดินประมาณ 3 เมตร และจะเป็นพื้นไม้กระดานยกระดับสูงกว่าพื้นดินประมาณ 1 ฟุต ทอดยาวไปด้านท้ายบ้าน ส่วนนี้เป็นที่สำหรับพักผ่อนหลับนอน

อีกส่วนของด้านในบ้านด้านทิศเหนือ จะเป็นพื้นดินทั้งหมด เป็นส่วนทำครัว(ครัวโบราณใช้ไม้เป็นเชื้อเพลิง) และใช้สำหรับเก็บของจิปาถะ ส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับทำเกษตร

พูดง่ายๆว่าอยู่กับดิน กินกับทรายจริงๆ

อีกส่วนของบ้าน จะเป็นส่วนที่อยู่นอกบ้าน ส่วนนี้จะยื่นยาวตามความยาวของตัวบ้าน ออกมาทางด้านทิศตะวันออก ส่วนยื่นออกมายาวประมาณ 3_4 เมตร หลังคาเดียวกันกับตัวบ้าน แต่เปิดโล่งสามด้าน ด้านที่เชื่อมกับตัวบ้านแบ่งด้วยฝาขัดแตะ มีประตูเปิดเชื่อมเข้าข้างใน

ส่วนด้านนอกนี้ ยื่นมาสิ้นสุดที่คูน้ำ ที่ขุดเชื่อมกับคลองขุด คูน้ำนี้ใช้สำหรับเก็บเรือล่องอ้อย ที่จะพูดในโอกาสต่อไป กับใช้เป็นที่เปิดน้ำเข้าออกสวนที่อยู่ลึกเข้าไป

จำได้ว่าริมคูน้ำที่ว่าติดกับบ้าน มีต้นชมภู่พันธ์ไทยโบราณ มีสีชมภูแป้นๆต้นใหญ่ต้นหนึ่ง ที่ให้ร่มเงากับตัวบ้านได้อย่างดี เมื่อถึงหน้าออกลูกจะดกมาก จนหล่นเกลื่อนคูน้ำ

ชีวิตส่วนใหญ่ในตอนกลางวันมักอยู่นอกบ้าน แม่บอกฉันว่าตอนที่ย้ายมา ฉันยังเล็กมาก จึงจ้างพี่เลี้ยงมาเลี้ยงคนหนึ่งชื่อ....ฉันยอมรับว่าฉันจำเหตุการณ์ตอนนั้นไม่ได้

ทุกวันนี้ยังตามคนเลี้ยงคนนี้ฉันอยู่ ทราบว่ายังมีชีวิตอยู่ อยากพบสักครั้ง

   ที่บ้านริมคลอง ในระยะต่อมาที่เริ่มจำความได้ พี่เลี้ยงไม่อยู่แล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวหงอยเหงามาก

ในสมัยนั้น ผู้คนที่อยู่ไกล้เคียงที่สุด ฝั่งตรงข้ามคลองคือบ้านก๋งเชื้อ อุดมศิลป์ ที่มีศักดิ์เป็นพี่ชายคนโตของก๋งเช็ง(ตาแท้ๆ)กับก๋งเกียว เตี่ยน้าช้อย

ส่วนฝั่งบ้านเรา ทางทิศตะวันออก ข้ามคูน้ำไปจะเป็นที่ของป้าจันทร์(คุณแม่ของลุงแดง ลุงชื้น ฯ) ที่มักเห็นป้าจันทร์เดินมาดูผลหมากรากไม้ที่ปลูกมาจนถึงคูน้ำบ่อยๆ บางทีก็มาเรียกมาทัก ส่วนบ้านป้าจันทร์จะอยู่ลึกเลยไป

ด้านทิศตะวันตก จำไม่ได้ว่าอยู่ไกล้กับใคร

ส่วนด้านไต้เป็นสวนที่เตี่ยกับแม่มาทำอยู่ ท้ายสวนไปติดกับทางรถไฟสายไต้

พูดถึงรถไฟ ในเวลานั้น นานๆจะมีขบวนรถไฟผ่านสักขบวน รถไฟในยุคนั้นเป็นรถไฟโบราณ หัวรถจักรใช้ไอน้ำ ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงขับเคลื่อน เวลารถไฟวิ่งผ่านแต่ละครั้ง แผ่นดินจะสะเทือนไปหมด ทุกครั้งที่เปิดหวูดจะดังสนั่นลั่นทุ่งมาก ได้ยินไปไกล โดยเฉพาะเวลากลางคืน

บอกตรงๆ ตอนนั้นฉันโตมากับความเงียบเหงา ในคลองนานจะมีเรือผ่านสักลำ ในยุคนั้นเรือที่ใช้เครื่องยนต์ยังแทบมองไม่เห็น เพราะเพิ่งเริ่มนำเครื่องยนต์ที่เป็นเดคื่องยนต์ที่โบราณมาก(ในสมัยนั้นเรียกว่ทันสมัยที่สุด) มาใช้ และมีน้อยมากๆ นานๆจะเห็นสักลำ และเรือที่ใช้เครื่องยนต์จะเป็นเรือขนาดใหญ่ ขนาดเรือเอี้ยมจุ๊นขึ้นไป

ในยุคนั้น จะไปไหนมาไหนแต่ละที มีทางเลือก 2 ทาง คือเดินไป กับพายเรือไป

ทางเดินหลักๆ ฝั่งบ้านเราต้องใช้ทางรถไฟเท่านั้น ทางเดินริมคลองไม่มี เพราะมีบ้านคนตั้งเป็นระยะๆห่างๆกันไป

ส่วนฝั่งตรงข้ามคลอง ฝั่งนนทบุรี จะมีทางเดินเลียบคลอง สามารถเดินไปตามความยาวตลอดคลองได้ ที่ใช้มากที่สุดคือเดินมาที่วัดใหม่ กับไปทางประตูน้ำ

ส่วนทางเรือ บ้านทุกบ้านจะมีเรือไว้ใช้งาน การใช้เรือในสมัยนั้น เกือบทั้งหมดใช้แรงคนเท่านั้น

เรือที่ฉันเห็นบ่อยในสมัยนั้น คือเรือสำปั้น เรืออีแปะ เรือบด ที่ใหญ่ขึ้นมาหน่อยคือเรือแจว ที่มีคนบางคนที่แจวเป็น

เรือบดเป็นเรือเล็กที่สุด เปรียวตัดน้ำมากที่สุด จึงพายได้เร็ว แต่เรือบดเป็นเรือที่ทรงตัวยากที่สุด น้อยคนนักที่จะนั่งได้ แม้แต่ฉันที่โตมากับเรือยังนั่งไม่ได้ นั่งเป็นล่ม

คนที่นั่งเรือบดได้ชำนาญที่สุด คือพระ พระในยุคนั้นเมื่ออกบิณฑบาตร ถ้าไปทางบกคือเดิน ถ้าไปทางเรือมักใช้เรือบด หลวงพ่อจะนั่งพายกลางเรือ มารับบาตรญาติโยมตามริมคลอง

นั่นคือความเหงาที่ฉันสัมผัสในชีวิตเริ่มแรก รอบตัวเงียบไปหมด มีแต่สรรพสิ่งตามธรรมชาติเท่านั้น ได้ยินก็แต่เสียงนก เสียงกาเสียงกาจริงๆในสมัยนั้นชุมมาก เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ต้องระวังเจ้ากานี่แหละจะโฉบไปกิน ได้ยินเสียงปลาฮุบที่ชุกชุมมาก นั่นคือเสียงธรรมชาติ แม้เสียงคนยังได้ยินน้อยมาก เมื่อคนออกไปสวนทุกอย่างจะเงียบหมด ไม่มีเสียงเครื่องยนต์ เสียงรถ เสียงเรืออะไรทั้งนั้น จึงชินกับความเงียบแต่นั้นมา

ทุกวันสิ่งที่ฉันทำได้ คือมองออกไปที่คลอง เล่นดินเล่นน้ำประสาเด็กๆ ชีวิตมันแค่นั้นจริงๆ หาเพื่อนสักคนยังไม่มี รอว่าแม่กลับจากสวนที่อยู่หลังบ้านเมื่อไหร่ กว่าจะได้เวลากลับมา กว่าจะหุงหาอาหาร กว่าจะได้กินก็มืดค่ำ กินข้าวท่ามกลางตะเกียงกระป๋อง นั่นคือเครื่องมือที่ให้แสงสว่างที่ดีที่สุดในยุคนั้น

ก่อนหน้านั้นฉันไม่รู้ว่าหลังจากที่ย้ายมาที่บ้านริมคลอง แรกเริ่มปลูกอะไร มารู้อีกทีก็ต่อเมื่อเห็นอ้อยเต็มสวนแล้ว

มาถามแม่ในภายหลังได้ความว่า

ในสมัยนั้นแม่รับผิดชอบทำสวน แต่เตี่ยรับราชการครู สอนที่โรงเรียนวัดใหม่ผดุงเขต กลางวันเตี่ยไปสอน แม่เข้าสวน ส่วนเราเล่นรอบๆบ้านประสาเด็ก

ในสมัยนั้น สิ่งที่ผู้ใหญ่กลัวมากเวลาทิ้งเด็กไว้กับบ้านคือกลัวตกน้ำ ยิ่งรอบบ้านมีแต่น้ำ โผล่มาหน้าบ้านก็เจอคูน้ำแล้ว และฉันยังเด็กมากๆ ไม่น่าเกิน 3 ขวบ คงห่วงกันมาก แต่เพื่อปากท้องจึงจำเป็นต้องให้ช่วยตัวเองไป

ฉันมาทราบจากแม่ภายหลังว่า เตี่ยมีความคิดอยากทำธุรกิจเสริมจากอาชีพครู สิ่งที่มองไว้คืออาชีพซื้ออ้อยไปส่งที่ตลาดมหานาค

เตี่ยจึงซื้อเรือเอี้ยมจุ๊นมาลำหนึ่ง เป็นเรือไม้สักมีขนาดใหญ่ แต่ไม่มีหลังคา เรือลำนี้ใช้ไม้สักทั้งลำ เป็นไม้สักที่มีขนาดใหญ่มาก ตอนนี้ยังเหลือซากหลักฐานบางแผ่นที่บ้านแม่ เรือมีเครื่องยนต์โบราณวางด้านท้ายเรือ มีพวงมาลัยเรือใช้บังคับ เครื่องยนต์ที่ใช้กับเรือลำนี้เป็นเครื่องยนต์รุ่นแรกๆ ใช้น้ำมันหนักที่ชาวบ้านเรียกว่า”น้ำมันขี้โล้”เป็นเชื้อเพลิง เวลาจะติดเครื่อง ต้องเผาหัวก่อน ตรงด้านบนเครื่งยนต์จะมีปุ่มใหญ่ๆปุ่มหนึ่ง เป็นตำแหน่งที่ต้องใช้เตาฟู่ ซึ่งเป็นเตาที่ใช้สำหรับเป่าไฟตรงไปที่ปุ่มนี้จนแดงจัด ไปเผาน้ำมันขี้โล้ให้ร้อนใส  แล้วจึงใช้กุญแจหมุนเครื่องยนต์จนติด เครื่องยนต์จะเดินรอบช้าๆ แต่มีกำลังมากพอไปขับใบพัดเรือให้พาเรือไปข้างหน้าได้ เวลาเครื่องยนต์ทำงาน จะขับไอเสียออกทางปล่องข้างเรือเสียงดัง บ๊ง บ๊ง ปล่อยควันเป็นวงกลมๆสวยงามเรียงกันไป

เรือลำที่ว่ามีชื่อว่า”จารุพันธ์”

ส่วนอาแปะกวยตอนหลังมาออกเรือบ้าง ตั้งชื่อเรือว่า “จารุสินชัย”

บ้านอาโกก็ออกมาทำธุรกิจอ้อยภายหลัง แต่ใช้เรือแจว

กลับมาที่สวนอ้อย

อ้อยที่ปลูกในระยะนั้น เป็นอ้อยคั้นน้ำ ที่เรียกว่า”อ้อยสิงคโปร” เป็นลำที่ค่อนข้างอวบขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง นิ้วครึ่งถึงสองนิ้ว

จำได้ตั้งแต่วิธีปลูก ดูแล จนกระทั่งตัด

ตอนปลูก จะใช้พลั่วขุดร่องขวางร่องสวน ลึกลงไปประมาณ 30 ซม. แล้วใช้พันธ์อ้อยที่ตัดเป็นท่อนๆยาวประมาณ 30 ซม. วางเฉียงๆไปตามร่องที่ขุด แล้วเกลี่ยดินลงมากลบบางๆ จนหมดทั้งร่อง

เสร็จแล้วรดน้ำให้ปุ๋ย จนลำต้นอ้อยงอกออกจากตาอ้อย เมื่อสูงขึ้นระดับหนึ่งจะเกลี่ยดินลงไปกลบเพิ่ม ทำแบบนี้ซ้ำๆจนดินเสมอกัน

ระหว่างนี้อ้อยโตจนจนสูงระดับหนึ่ง จึงต้องลอกใบอ้อยหรือกาบอ้อย เพื่อเปิดผิวอ้อยออกเป็นระยะๆ ตามความโตที่อ้อยโตขึ้น

งานลอกกาบอ้อยเป็นงานที่น่าเบื่อ ทั้งร้อนทั้งคน ถ้าไม่ระวังก็โอนใบอ้อยบาด หรือโดนขนอ้อยตำถ้าเอามือไปรูดย้อนศรขนอ้อย

ระหว่างนี้ก็ต้องให้น้ำให้ปุ๋ย ลอกกาบอ้อยเป็นระยะจนโตได้ที่

เมื่อปลูกได้ที่จนถึงเวลาตัดอ้อย จะมีคนงานที่จ้างประจำจำนวนมาก มาตัดอ้อยที่ว่า เวลาตัดอ้อยจะแบ่งหน้าที่กันทำ หน้าที่หลักๆคือตัด อีกหน้าที่คือมัด ท้ายสุดจะต้องมาช่วยกันแบกอ้อยที่มัดแล้วมาลงเรือลำที่เล่าไปแล้ว

เวลาตัดอ้อย จะมีกลุ่มหนึ่งที่ทำหน้าที่ตัดอ้อย จำได้ว่าส่วนใหญ่เป็นครอบครัวตาสอยยายพวงปล่ยบาง

เวลาตัดอ้อย จะใช้มีดตัดไปโคนต้นอ้อยให้ขาด แล้วมาตัดส่วนปลาย ทิ้งส่วนใบติดไปประมาณหนึ่งศอก ตัดเสร็จวางเรียงไว้

อีกกลุ่มคือพวกมัด จะเอาอ้อยที่ตัดเรียง มามัดเป็นมัดๆ จำไม่ได้ว่ามัดละกี่ลำอ้อย ใช้ตอกเป็นเครื่องมัด คือใช้ตอกมัดมัดอ้อยสักสองรอบ แล้วดึงตึง ขมวดตอกให้แน่น ยัดซ่อนปลายเข้าไว้ในตอกที่มัดอ้อย โดยมัดเป็นเปลาะๆ สามสี่เปลาะ เสร็จวางเรียงเพื่อแบกลงเรือต่อไป

เมื่อตัดมัดเสร็จ จะช่วยกันแบกลงเรื ที่เรือจะมีคนคอยรับมัดอ้อยมาจัดเรียง เพื่อให้บรรจุให้มากที่สุด คนเรียงจะต้องรู้วิธีเรียง คือเรียงให้เป็นด้วย

เมื่อเรียงอ้อยจนหมดแล้ว จากนี้ไปรอเวลาที่จะออกเรือ เพื่อเอาอ้อยไปส่งที่ตลาดมหานาค

จำได้ว่าคนประจำเรือในสมัยนั้นมีสองคน คือตาเบี้ยว กับตาเหล่ โดยมีเตี่ยเป็นคนขับ

เรือพร้อมกับอ้อยพร้อมแล้ว เพียงแต่รอเวลา รอเวลาที่ว่าคือรอเวลาน้ำขึ้น ในสมัยนั้นคลองขุดจะยังมีน้ำขึ้น้ำลงอยู่ ถ้าน้ำลง แทบจะแห้งถึงก้นคลอง เห็นดินเลนจากชายตลิ่งถึงกลางคลองเลย เรือจะเกยแห้งรอเวลาน้ำขึ้นจึงออกเรือได้

เมื่อออกเรือแล้ว เรือจะมาติดเวลาที่ประตูน้ำ รอเวลาประตูน้ำเปืดอีก บางทีดึกๆถึงได้ไปได้

กลับมาเรื่องอ้อยอีกครั้ง

นอกจากจะเป็นอ้อยคั้นน้ำตามที่บอกไปแล้ว

ยังมีอ้อยที่ปลูกอีกชนิด เป็นอ้อยกินสด เป็นอ้อยสีม่วงๆ ลำไม่ใหญ่นัก ที่เรียกว่า”อ้อยขาไก่” บางพันธ์มีชื่อว่าตลับชาติ

เด็กๆในสมัยนั้น มักกินอ้อยชนิดนี้ หักมาแล้วกินเลย ใช้ฟัน
กัดปอกเปือกจนหมด แล้วใช้ฟันกัดเป็นข้อข้อๆเคี้ยวเอาแต่น้ำ คายชันทิ้ง ฟันฟางถึงเสียกันหมด

อ้อยชนิดนี้ ในงานวัดจะปอกเลือก ขวันมาทำอ้อยขวั้น ในภายหลังหั่นเป็นท่อนๆพอคำ มาแช่น้ำแข็งในตู้กระจก ให้คนซื้อไปเคี้ยวกินคายชัน

  ชีวิตแรกเกิด

ชีวิตฉันเกิดมาลิมตาดูโลก ในวันที่ 15 มกราคม 2494 ถ้านับถึงวันนี้ (พ.ศ.2561) ก็ปาเข้าไป 67 ปี แล้วซินะ

ฉันเกิดมาที่บ้านเลขที่ 1 หมู่ 2 ต.ศาลากลาง อ.บางกรวย นนทบุรี บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ติดกับประตูน้ำฉิมพลี เป็นบ้านทรงไทย หลังขนาดกลางๆ ชั้นล่างเป็นพื้นดิน ส่วนชั้นบนเป็นเรือนไม้กระดาน มีห้องยาวขนานตัวบ้านหนึ่งห้อง ด้านนอกเป็นลานกว้าง แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนในเชื่อมต่อกับห้อง ส่วนนอกลดระดับลงเล็กน้อยเชื่อมกับบันไดลงจากบ้านด้านหน้า

หลังเกิด ชีวิตเริ่มเรียนรู้สิ่งต่างๆรอบตัว การบันทึกความทรงจำเริ่มทำงาน จากภาพที่พร่ามัว จนค่อยๆชัดขึ้นทีละน้อยๆ ทำให้บางครั้งในช่วงแรกเริ่ม เหมือนภาพกึ่งฝันกึ่งจริง จนมาชัดเจนในเวลาต่อมา

แรกเกิด ฉันมีตำหนิติดตัวมา เป็นติ่งที่งอกมาตรงหูด้านขวามือ ติ่งนี้ไม่ใหญ่นัก แต่พอให้รู้สึกเป็นปมเล็กๆในใจ (ติ่งนีมาตัดออกภายหลัง ที่ศิริราช)

ตอนที่ฉันเกิด ฉันเห็นเป็นภาพลางๆ เห็นคนจำนวนมากกำลังช่วยกันขุดอ่างน้ำของประตูน้ำฉิมพลี ทำให้ทราบว่าฉันเกิดเป็นช่วงกำลังมีการก่อสร้างประตูน้ำพอดี ฉันจำได้ว่ามีผู้ใหญ่เรียกฉันเสมอว่า”ไอ้ติ่ง ประตูน้ำ”

ฉันเห็นภาพประวัติศาสตร์ตอนก่อกำเนิดประตูน้ำ เห็นกรรมกร ที่เรียกว่า”กุลี” ใช้พลั่วตักดินใส่บุ้งกี๋ แล้วยกใส่บ่าส่งให้กุลีอีกคน ทำหน้าที่แบกขึ้นไปทิ้งบนบก ที่ปัจจุบันคือ เกาะกลางประตูน้ำ ที่เป็นที่ทำการปัจจุบัน และอีกบางส่วนมาทิ้งเป็นคันดินรอบอ่างน้ำ  เมื่อการขุดเริ่มลึก มีการทำนั่งร้านปูไม้กระดาน เอียงลาดลงมาเพื่อให้การแบกดินขึ้นไปข้างบนได้ง่ายขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างใช้กำลังและเครื่องมือง่ายๆเพียงไม่กี่ชิ้น ในการขุดอ่างน้ำจนเสร็จ

สภาพแวดล้อมในตอนนั้น มันคือชนบทแห่งหนึ่งในประเทศไทย ไม่มีอะไรเลย ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่แบบบ้านนอก ชีวิตอยู่ได้ด้วยการหยิบฉวยจากธรรมชาติไกล้มือ ที่มีให้อย่างเหลือเฟือ แม้ลำบากเมื่อเทียบกับสมัยนี้ แต่มันก็รู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย และปฏิสัมพันธ์กับคนรอบกายที่มีให้แก่กันอย่างเหลือล้น

นี่คือที่เห็นในระยะแรก ที่เริ่มจำความได้
 

   เอามาให้อ่านอีกตอน

ชีวิตริมคลอง

ที่บ้านชายคลอง ชีวิตผูกพันกับคลองมาก เห็นคลองมาตั้งแต่จำความได้

คลองขุดในสมัยนั้นเงียบเหงามาก นานๆจะมีเรือผ่านสักลำ คลองยังใสสะอาด เอาน้ำในคลองมาใช้ดื่มกินได้เลย

ในคลองไม่มีขยะ ไม่มีผักตบ เห็นแต่ผืนน้ำ ที่ชายตลิ่ง มีสะพานไม้ทอดยื่นไปในคลอง สะพานนี้สารพัดประโยชน์ ใช้นั่งเล่นตอนเย็น ใช้เป็นสะพานอาบน้ำ ใช้ขนของลงเรือ ฯ

ตอนเย็นๆ ชอบมานั่งที่สะพาน แล้วมองมาตามลำคลองทางตะวันตก เห็นพระอาทิตย์สีแดงตกลงในคลองเป็นเงาสะท้อนที่สวยงามมาก บวกความเงียบ ความเหงา ยังจำได้ติดตาจนวันนี้

ริมคลองขุดในยุคนั้น สวยงาม มองไปทางไหนจะเห็นต้นไม้เขียวชอุ่มไปหมด เป็นคลองที่มีชีวิต มีต้นไม้หลายระดับ บนตลิ่งที่เจอมากคือไผ่ ก้ามปู มะขามเทศ ฯ ส่วนไม้ที่ทอดตัวลงมาในคลองทำให้คลองมีชีวิตคือ เฟือยเป็นส่วนใหญ่ พวกปลามักมาหลบไต้ดงเฟือยเหล่านี้

ในสมัยนั้น จะมีเรือประเภทหนึ่ง เรียกว่าวณิพก เป็นเรือขอทาน ที่มักร้องเพลงแลกของแล้วแต่จะให้

เรื่อวณิพกเป็นเรือประทุน เป็นเรือสำปั้นขนาดกลางๆ มีประทุนทำด้วยเสื่อลำแพนทาด้วยชันกันแดดกันน้ำใช้หลับนอนในเรือ

ขอทานพวกนี้ จะพายเรือไปตามคลอง เจอบ้านไหน จะจอดหัวสะพานร้องเพลงแลกของ ในตอนนั้นกลัวมาก ที่กลัวเพราะมาจอดไม่มีอะไรจะให้เขา

ตอนนั้นอาหารการกินอัตคัตมาก ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีตู้เย็น ไม่มีตลาดที่จะให้ไปซื้อของได้ สิ่งที่เอามากินคือของแห้ง พวกปลาแห้งจะเป็นหลัก ตอนนั้นปลาถูกมาก ในบ้านจะมีปลาแขวนไว้เหนือเตาไฟ ทำเป็นรมควันในตัว นึกอะไรไม่ออกก็เอามากิน

จะกินของสด ก็ต้องหารอบบ้าน ผักก็เดินเก็บเอา ผักบุ้ง ตำลึง ผักกระเฉดเก็บเอาในสวน

อาหารสดประเภทเนื้อ นานๆได้กินที ส่วนใหญ่ที่ได้กินคือปลา ในสมัยนั้นปลาชัมมาก แค่มีสวิงออกไปพักเดียวก็ได้กินแล้ว ปลาช่อนไปไล่เอาในร่องสวน ปลาตะเพียนเหมือนกัน เปิดท่อเข้าสวน ปลาตามมาด้วย

ส่วนหมู ไก่ ถือว่าเป็นอาหารที่สุดยอด ไม่ได้กินบ่อยๆ นานๆได้กินที รอแม่กับเตี่ยซื้อมาจากตลาดข้างนอก ถึงได้กิน

ในสมัยนั้นใครได้กินไก่ ถือว่ารวยมาก คนกินปลาโดยเฉพาะปลาทู เป็นคนจน ไปแย่งปลาที่หมาแมวกิน

เดี๋ยวนี้ตาลปัดหมด

น้ำที่ใช้ในบ้าน ในสมัยนั้นถ้าเป็นน้ำดื่ม จะใช้น้ำที่รองจากหลังคาในหน้าฝน น้ำฝนที่ผ่านจากจากหลังคา จะมีสีเหลือง มีกลิ่นเฉพาะตัว ดื่มจะรู้ทันที

ส่วนน้ำที่ใช้ทำครัว จะใช้น้ำคลองที่ตักมาใส่ตุ่ม ใช้สารส้มที่เป็นก้อนคล้ายน้ำตาลกรวดก้อนใหญ่ๆ แกว่งในตุ่ม วิธีแกว่งสารส้ม จะแกว่งให้สารส้มขูดกับผนังโอ่งไปในทางเดียวกัน แกว่งพอควรเพราะมากเกินไปน้ำจะเผื่อน

หลังจากนั้นทิ้งไว้สักพัก น้ำจะหมุนวนเกาะเป็นตะกอนตกก้นตุ่ม น้ำจะใน นำไปใช้ได้ นี่คือชีวิตริมคลอง

ส่วนเสื้อผ้าที่ใช้ ไม่รู้ว่าความสวยงามคืออะไร ใช้ไปจนกว่าจะขาดถึงได้ใหม่

ขนมหวานในสมัยนั้นไม่ต้องพูด นานๆได้กินที ไม่มีขายต้องทำเอา น้ำตาลหายาก เลยไม่ค่อยได้กิน อยากกินของหวานเดินไปหลังบ้านมีอ้อยให้กินแทน

นี่คือชีวิตยุคนั้น
 
เอามาให้อ่านต่อ

- เมื่อถึงคราวต้องเปลี่ยน -

ชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อแม่กับเตี่ย ต้องย้ายกลับประตูน้ำ

มาทราบภายหลังว่าที่ต้องย้ายกลับ เพราะครบกำหนดตามโควต้าแล้ว ที่จะต้องให้ที่ริมคลองกับคนอื่น(ตากวย)บ้าง

ตอนย้ายกลับอายุประมาณ 3 ขวบเศษๆ

ย้ายกลับมาแล้ว ยายเล็กรับไปอยู่ด้วย เข้าใจว่าในช่วงนั้นที่บ้านกำลังยุ่ง การทำมาหากินกำลังขึ้น เตี่ยก็ต้องล่องอ้อย แม่ก็ต้องดูแลข้างหลัง ทำให้ไม่ค่อยมีเวลา

ฉันไปอยู่กับยายเล็ก น้าช้อย น้าเล็กกำลังโสด มีด้วยกัน สี่ชีวต ในหลังคาเดียวกัน

ไปอยู่วันไหนจำไม่ได้ ยังเล็กมากอยู่ บ้านยายเล็กตอนนั้น อยู่ลึกเข้าไปจากประตูน้ำ มีเพื่อนบ้านคือบ้านลุงฝุก ป้ามา มีเพียงร่องสวนตื้นๆขวางอยู่

บ้านยายเล็กเป็นบ้านมุงจาก ดีกว่าที่บ้านริมคลองมาก ตัวบ้านยาวลึกเข้าไปตามแนวเหนือ_ไต้ ด้านหน้าอยู่ด้านไต้ มีหลังคามุงจากยื่นออกมาสำหรับทำกิจกรรมใช้ชีวิตนอกบ้าน ในบ้านผ่านประตูบานไม้เข้าไปเป็นทางเดินบนดิน ทางขวามือเป็นห้องยกระดับสูงประมาณ 1 เมตร มีบันไดขึ้นที่ห้องนี้

ส่วนในบ้านถ้าเดินลึกเข้าไปจนสุดตัวบ้าน จะมีส่วนยื่นไปทางซ้ายมือห้องหนึ่ง ด้านซ้ายนี้จะเปิดโล่งจากซ้ายไปขวามือ

ส่วนซ้ายมือ จะเป็นส่วนทำครัวโบราญ บนพื้นดิน จะก่อเป็นแท่นด้วยดินเหนียว สูงขึ้นมาประมาณคืบหนึ่ง กว้างประมาณ 1เมตร ลึกประมาณ 70 ซม. บนแท่นนี้ตั้งเตาที่ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง มีกองฟืนวางข้างๆ

ภาชนะหุงต้มยุคนั้นยังเป็นดินเผา อลูมิเนียมยังค่อยไม่มีใช้

การใช้เตาฟืนสิ่งที่ตามมาก้นหม้อจะดำด้วยเขม่าควัน จึงมีที่วางหม้อโดยเฉพาะ ที่วางที่ว่าจะทำมาจากใบหมาก นำมาขมวดแล้วขดเป็นวงกลมเอาเชือกมัดใ้อยู่ตัว ใช้วางหม้อดิน

ส่วนพัดที่ใช้พัดเตาก็ทำมาจากกาบหมากเช่นกัน กาบหมากเป็นวัสดุธรรมชาติที่นำมาใช้ประโยชน์มาก เอาทำที่เจียนน้าพริกในครกยอดมาก เช็ดน้ำพริกได้หมดจดดีนักแล เอามาทำของเล่นก็ได้ นำมาให้เด็กนั่งที่กาบหมากแล้วลากสนุกดี บางคนโดนคนลากแกล้ง โดยลากเร็ว คนนั่งทรงตัวไม่ดีก็ล้มคว่ำคะมำหงายไป นี่คือความสนุกในยุคนั้น

พูดถึงหมาก ในตอนนั้นมีปลูกกันมาก คนแก่กินหมากกันทั่วไปในสวนจึงปลูกหมากปลูกพลูทั่วไป วัตถุดิบจากหมากจึงมีมาก

อยู่กับยายเล็ก เป็นช่วงที่มีความสุขมาก ยายดูแลเอาใจใส่ดีเยี่ยม ยายใจดีและดูเป็นห่วงไปหมด

ที่จริงยายเล็กก็เหมือนยายแท้ๆ ยายเล็กเป็นน้องยายใหญ่(ยายแท้ๆ) ก๋งเล็ก (ก๋งเกียว)ก็เป็นน้องก๋งแท้ๆ ความสัมพันธ์จึงแนบแน่น

ความรักของยายที่ถ่ายมาให้ฉัน ยั่งยืนยาวมาตลอด แม้ภายหลังจะไม่ได้อยู่กับยาย ได้ย้ายกลับมาอยู่บ้านแม่แล้ว ยายก็ยังห่วงตามมาดูเป็นระยะ บางครั้งที่ไม่สบาย ยายจะตามมาดูแล ยายทำขนมก็จะตามหิ้วมาฝาก

คิดแล้วยังนึกถึงยาย

- บ้านสวนส้มยายเล็ก -

ช่วงที่เข้าไปอยู่กับยายเล็ก ยังเล็กมากๆ จำได้ว่าในช่วงนั้นรอบบ้านยาย เป็นสวนส้ม แถวนั้นในตอนนั้นปลูกส้มกันแยะ บ้านยายใหญ่ก็ปลูกส้ม ส้มที่นี่รสชาดดีมาก เพราะเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับบางมด ส้มที่นี่มีกลิ่นเฉพาะตัว เป็นกลิ่นจากน้ำมันที่ออกจากผิวส้ม หลังจากส้มแถวบ้านกับที่บางมดหายไป แทบไม่ได้กลิ่นแบบนั้นอีกเลย มาอีกทีตอนคุณแดงมาทำสวนส้ม ตรงที่ท้ายปั้มน้ำมันกำนันหวี ที่ตรงนี้จำไม่ผิดเป็นหมู่บ้านไปแล้ว

สมัยที่แดงเอาสวนส้มมาปลูกในที่ดังกล่าว ทำออกมาดีมาก รสชาติไกล้เคียงบ่งมด มีคนมาซื้อถึงสวนมากมาย เสียดายที่เลิกทำไปแล้ว หรือย้ายไปทำที่อื่น

รอบๆบ้านยายตอนนั้น จึงเต็มไปด้วยต้นส้ม ดูมืดคลึ้มไปหมด เมื่อถึงช่วงส้มออกดอก กลิ่นหอมดอกส้มอบอวลไปทั่ว สดชื่นมาก เมื่อผลส้มโตขึ้นสิ่งที่ต้องระวังคือมวนส้ม ที่มักมาเกาะกินน้ำส้มที่ลูกส้มทำให้ผลส้มเสียหาย

จึงถึงเวลาที่ต้องออกจับมวนส้มกัน

วิธีจับมวนส้ม เขาจะใช้กระป๋องนมผูกติดกับไม้ไผ่ยาวๆ เมื่อเห็นมวนส้มเกาะลูกส้ม จะสอดกระป๋องส้มเข้าไป ที่ลูกส้มที่มีมวนจับอยู่เขย่าให้มวนส้มตกลงในกระป๋องจับไปทำลายต่อไป

เมื่อถึงต้องเก็บส้ม จะเกณฑ์คนมาช่วยกันเก็บ ในร่องจะมีเรือคอยตามไปขนส้มที่เก็บแล้ว เมื่อเต็มลำเรือจะเข็นมาขึ้นบ้านเพื่อคัดต่อไป

ที่ลานคัดส้ม จะมีส้มมากองสูงเป็นภูเขาเลากา เมื่อเก็บส้มเสร็จจะมาช่วยกันคัดส้ม การคัดส้มจะแยกเป็นขนาดต่างๆ เมื่อคัดแล้วก็จะนำมานับแต่ละขนาดต่อไป ในสมัยก่อนจะไม่ใช้การชั่งกิโล แต่ขายเป็นร้อย ในแต่ละร้อยจะมีแถมไปจำนวนหนึ่ง

หลังแยกหลังนับแล้ว จะช่วยกันแบกส้มที่กองเป็นภูเขาเลากา ไปลงเรือที่ประตูน้ำเพื่อส่งไปมหานาคต่อไป

หลังเก็บส้มหมดไปแล้ว เด็กๆจะไปหาส้มที่หลงจากการเก็บ ที่มีอยู่ไม่มากนัก บางลูกอยู่สูง บางลูกอยู่ในจุดลับตา ตอนนั้นจะเดินหาส้มหลงมากินกันสนุกไป

หมดจากเก็บส้ม ก็มาถึงช่วงดูแลส้มต่อ

ในช่วงหน้าร้อน เริ่มวิดน้ำออกจากสวนส้ม ใช้ระหัดวิดน้ำจนน้ำเริ่มแห้ง ในสมัยนั้นกุ้ง ปลาชุมมาก เมื่อน้ำงวดลง เริ่มเห็นกุ้งก้ามกรามเดินในร่องสวน ปลาช่อนเริ่มแถกให้เห็น ปลาหมอ ปลาตะเพียน มีหมด เด็กๆสนุกกับการจับปลามาก พยายามจับเป็น จับได้เอามาขังในตุ่ม รอจับมากินต่อไป ส่วนปลาที่ตายก็มาทำปลาแห้งอย่างที่ว่าในยุคนั้นขาดแคลนอาหารสดมาก ปลาสดจึงสำคัญมาก

จับปลาหมดแล้ว ถึงเวลาลอกโคลน เครื่องมือที่ใช้ลอกโคลน จะใช้”ขนาด” ที่ทำมาจากสังกะสี ที่มีรูปร่างที่เหมาะกับการตักดินเลน ขนาดมีด้ามยาวประมาณเมตรเศษ เวลาลอกโคลนคนตักจะยืนบนโคลนในร่องสวน ใหมือจับขนาดตักโคลนเหวี่ยงขึ้นหลังร่องสวน ใช้เท้าปาดดินที่ข้างร่องให้ตกลงกลางร่องเพื่อสะดวกกับการตักสาดต่อไป

การลอกโคลนมีประโยชน์ เป็นการการนำปุ๋ยที่หมักในร่องสวน ที่เกิดจากการหมักหมมใบไม้ที่ตกลงในร่อง ไปใช้เป็นปุ๋ยต่อไป

ประโยชน์อีกอย่าง เป็นการทำความสะอาดร่องสวน ให้ลึกขึ้นเพื่อรองรับน้ำในช่วงต่อไป

นั่นคือชีวิตในสวนส้มบ้านยายเล็ก